25 กรกฎาคม 2560 เทคโนโลยีโซล่าเซลล์ก้าวหน้าไปอีกขั้น เมื่อนักวิจัยประสบความสำเร็จในการสร้างต้นแบบขนาดเต็มของแผ่นโซลาร์เซลล์ชนิด Interdigitated Back Contact (IBC) ซึ่งสามารถดูดซับพลังงานแสงอาทิตย์ได้จากทั้งสองด้าน แผ่นโซลาร์เซลล์แบบใหม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้มากกว่าแบบเดิม และยังมีอายุการใช้งานมากกว่าอีกด้วย
ทีมวิจัยจากศูนย์วิจัยพลังงานแสงอาทิตย์แห่งชาติสิงคโปร์ (SERIS) ร่วมกับศูนย์วิจัยพลังงานแสงอาทิตย์นานาชาติ ISC Konstanz ในเยอรมัน สร้างแผ่นโซลาร์เซลล์แบบใหม่โดยใช้โซลาร์เซลล์ ZEBRA IBC ซึ่งเป็นเซลล์ชนิดดูดซับพลังงานแสงอาทิตย์จากทั้งสองด้านที่มีประสิทธิภาพสูง 22% นำมาประกอบเป็นแผ่นโซลาร์เซลล์ขนาดเต็มโดยใช้ซิลิกอนเวเฟอร์ชนิดผลึกเดี่ยวมาตรฐานประเภทเอ็น (n-type Cz monocrystalline silicon wafers) และเพิ่มความมั่นคงด้วยเทคนิคการห่อหุ้มด้วยแผ่นแก้วสองชั้น (double-glass insulation technique )
การหุ้มด้วยแผ่นแก้วสองชั้นทำให้สามารถรับประกันระยะเวลาใช้งานได้นานถึง 30 ปีหรือมากกว่านั้น แผ่นโซลาร์เซลล์ต้นแแบบยังสามารถผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นได้ถึง 30%
Wang Yan ผู้อำนวยการแผนกโซลาร์เซลล์ของ SERIS กล่าวว่า “แผ่นโซลาร์เซลล์ใหม่ของ SERIS ซึ่งทำจากเซลล์ชนิด IBC 60 เซลล์ ด้านหน้าผลิตไฟฟ้าได้ 350 วัตต์ ด้านหลังสามารถเพิ่มการผลิตไฟฟ้าได้อีก 20% แผ่นโซลาร์เซลล์ใหม่สามารถผลิตไฟฟ้าโดยรวมถึง 400 วัตต์ได้อย่างน่าทึ่ง”
Radovan Kopecek ผู้ก่อตั้ง ISC Konstanz แสดงความเชื่อมั่นต่อเทคโนโลยีพลังงานทดแทนนี้ว่า “หลายคนยังคิดว่าการใช้เซลล์ชนิด IBC ในแผ่นโซลาร์แบบสองด้านไม่เกิดประโยชน์อะไร แต่เราได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าพวกเขาคิดผิด เทคโนโลยีนี้จะนำไปสู่ระดับราคาพลังงานที่ต่ำที่สุด โซลาร์เซลล์สองด้านจะได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว”
SERIS กล่าวเสริมว่า “ต้นแบบแผ่นโซลาร์เซลล์ที่ทำที่ SERIS ได้ผ่านการพิสูจน์แนวคิดสำหรับการผลิตแบบอุตสาหกรรมแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับพันธมิตรทางธุรกิจสำหรับการผลิตออกขาย” เขาเชื่อว่าผลิตภัณฑ์นี้จะพร้อมนำเข้าสู่ตลาดภายในสองปี
ทีมข่าว สำนักข่าว vihok news