27 ก.ค. 2560 อัยการผู้ช่วย สอบได้ไม่ถึง 1% ผู้เข้าสอบ 7,476 คน ผ่าน 11 คน จากผู้ เข้าสอบ 8,000 คน เหตุข้อสอบแต่ละข้อได้แยกประเด็นเยอะผู้เข้าสอบ ตอบไม่ตรงธงคำตอบ ไม่ทันเวลา ระบุข้อสอบอัยการธงคำตอบบางข้อไม่จำเป็นต้องตรงกับคำพิพากษาศาลฎีกา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีประกาศรายชื่อผู้ที่สอบผ่านข้อเขียนเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการอัยการเเละเเต่งตั้งให้ดำรงตำเเหน่งอัยการผู้ช่วย (สนามใหญ่) โดยมีผู้สอบข้อเขียนจำนวน 7,476คน สอบผ่านจำนวน 11คน คิดเป็น 0.147เปอร์เซ็นต์ สำหรับรายชื่อผู้ที่สอบได้ประกอบด้วย นายภาสกร เที่ยงพูนวงศ์ ,น.ส.วรพีพัทธ์ หอสุวรรณจิตร , นายพิสุทธิ์ บัวเเย้ม ,น.ส.ชมชนก รัชตะวราโชติ ,นายจตุพร ศรีวัน นายชานนท์ ทวีวงศ์, นายอนันต์ชัย คีรีกิจขจร นายธีรรัตน์ มังคุด ,น.ส.เมษยา โรจนอารีย์ นายอาทรณ์ เกตุเเก้ว ,นายศิริพล ตันติพูล หลังจากนี้ผู้ที่สอบข้อเขียนผ่านจะต้องเข้ารายงานตัวที่สำนักงานอัยการสูงสุด ที่ศูนย์ราชการ ถนนเจ้งวัฒนะ เวลา 9.00น.ของวันที่ 4 สิงหาคมนี้
มีรายงานข่าวว่าสำหรับจำนวนผู้ที่สอบข้อเขียนผ่านในปีนี้ 11 คนนั้นถือว่ามีจำนวนน้อยมากเป็นประวัติการณ์ในการสอบอัยการผู้ช่วยสนามใหญ่ ที่จะมีผู้เข้าสอบเป็นจำนวนมาก โดยแหล่งข่าวจากสำนักงานอัยการสูงสุดเปิดเผยถึงเหตุที่ มีผู้เข้าสอบข้อเขียนได้น้อยกว่าทุกปีว่า ปกติหากผู้เข้าสอบได้ผ่านเกณฑ์ 50 % ก็จะรับหมดเว้นแต่ปีไหนมีงบประมาณจำกัดก็จะกำหนดจำนวนรับไว้ว่าไม่เกินกี่คน ซึ่งข้อสอบครั้งนี้ในบางข้อมีความยากกว่าครั้งที่ผ่านมา ข้อสอบมี 10 ข้อ เวลาสอบ 4 ชั่วโมง ซึ่งประเด็นคำถามในข้อสอบแต่ละข้อ มีเยอะมากบางข้อมีร่วม 10 ประเด็นที่ต้องตอบ ขณะที่มีข้อสอบ 10 ข้อ เท่ากับว่าในแต่ละข้อมีเวลาทั้งอ่านข้อสอบและทั้งเขียนคำตอบแค่ ราว 24 นาทีเท่านั้น ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้เข้าสอบตอบไม่ครบประเด็นและทำข้อสอบไม่ทันเวลาเป็นจำนวนมาก ซึ่งในการตรวจข้อสอบอัยการผู้ช่วยก็ต้องตรวจให้เป็นไปตามธงคำตอบเมื่อผู้เข้าสอบตอบไม่ถูก ไม่ครบประเด็นกันมาก ทำให้ได้คะแนนไม่ดี และธงคำตอบข้อสอบอัยการผู้ช่วยบางข้อก็ไม่ได้เห็นสอดคล้องกับแนวคำพิพากษาศาลฎีกา เนื่องจากอัยการพิเคราะห์พิจารณาข้อกฎหมายในบางเรื่องแตกต่างไปจากที่ศาลฎีกาวินิจฉัย เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่ใช้ระบบประมวลกฎหมายหรือใช้ระบบ Civil Law คำพิพากษาศาลฎีกาจึงไม่ถือว่าเป็นกฎหมายที่จะต้องถือปฏิบัติตาม อย่างเช่นประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายจารีตประเพณีหรือระบบ Common Law เพราะเป็นเพียงแค่แนวทางการใช้และการตีความกฎหมายเท่านั้น ดังนั้น ธงคำตอบข้อสอบบางข้ออัยการก็จะมีความเห็นและวินิจฉัยข้อกฎหมายที่แตกต่างไปจากที่ศาลฎีกาวินิจฉัยไว้ ในจุดนี้เป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้ผู้เข้าสอบจำนวนมากที่ตอบโดยยึดแนวคำพิพากษาศาลฎีกาเป็นหลัก ได้คะแนนไม่ดีในการตอบข้อสอบข้อนั้นไป ซึ่งในรอบหลายปีที่ผ่านมาเคยมีจำนวนผู้สอบผ่านผู้ช่วยผู้พิพากษาได้น้อยมากขนาดนี้ คือสอบได้เพียง 6 คน ในการสอบผู้ช่วยผู้พิพากษา รุ่น 50 เมื่อปี 2547 แต่ในครั้งนั้นมีความแตกต่าง จากการสอบอัยการผู้ช่วยในครั้งนี้ เนื่องจากการสอบผู้ช่วยผู้พิพากษาในการสอบเมื่อปี 2547 เป็นการสอบสนามเล็ก ที่มีคนเข้าสอบไม่กี่ร้อยคน การสอบอัยการผู้ช่วยครั้งนี้เป็นการสอบสนามใหญ่ที่มีคนเข้าสอบจำนวนมากร่วม 8,000 คน ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตว่า ธงคำตอบข้อสอบอัยการผู้ช่วยไม่ได้มีการเปิดเผยโดยทันทีที่สอบเสร็จ เหมือนเช่นธงคำตอบข้อสอบผู้ช่วยผู้พิพากษา โดยมักจะทิ้งช่วงเวลาผ่านไประยะหนึ่ง นานพอสมควรแล้วจึงนำธงคำตอบมาเผยแพร่ ซึ่งทำให้ผู้เข้าสอบไม่สามารถทราบได้โดยทันทีที่สอบเสร็จว่าตนเองตอบถูกหรือผิดธงอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้มีเสียงเรียกร้องจากผู้เข้าสอบจำนวนมากขอให้เปิดเผยและเผยแพร่ธงคำตอบโดยทันทีมาโดยตลอด
พิราบข่าว