สะอึก… อาการปกติที่หลายคนเคยพบเจอ และเมื่อมีอาการขึ้นมา บางครั้งมันก็ดันไม่ยอมหายไปง่ายๆ จนทำให้เราต้องรู้สึกรำคาญและหงุดหงิด วันนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับอาการสะอึกกัน มาดูสิว่าอาการนี้เกิดจากอะไร แลเราสามารถรักษามันได้อย่างไรบ้าง
สะอึก (Hiccup, Hiccough, Singultus) เป็นอาการที่เกิดขึ้นโดยฉับพลัน (ไม่ใช่โรค) และเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติแบบที่เราไม่ได้ตั้งใจให้เกิด ซึ่งร่างกายไม่สามารถควบคุมอาการได้ หรือเรียกว่า รีเฟล็กซ์ (Reflex) เป็นอาการที่พบได้บ่อยมากไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย รวมถึงทุกๆ ช่วงวัยของอายุ แต่ส่วนมากจะพบในวัยเด็ก และวัยรุ่นมากกว่า
อาการสะอึก โดยทั่วไปแล้วจะเป็นอาการเป็นๆ หายๆ กลไกที่เกิดขึ้นเชื่อว่าเกิดจากมีการรบกวนประสาทของกะบังลมและกล้ามเนื้อระหว่างกระดูกซี่โครง ซึ่งมีหน้าที่ช่วยในการหายใจเช่นเดียวกับ กะบังลม จึงส่งผลให้กะบังลมและกล้ามเนื้อระหว่างกระดูกซี่โครงนี้หดตัวทันที ส่งผลให้เกิดการหายใจเข้าทันที ตามด้วยฝากล่องเสียงปิดตามทันทีหลังหายใจเข้าผ่านกล่องเสียง จึงเกิดเป็นเสียงขึ้นมา จะเกิดขึ้นประมาณ 4-60 ครั้งต่อ 1 นาที โดยทั่วไปแล้วอาการสะอึกจะหายไปได้เองภายในระยะเวลาเป็นนาทีหรือเป็นชั่วโมง
สาเหตุของอาการสะอึก
โดยทั่วไปแล้วอาการสะอึกเป็นอาการปกติทั่วไป โดยมีสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงที่พบได้บ่อย ๆ เช่น
หายใจเอาควันต่าง ๆ เข้าไป
กินอาหารเร็วเกินไป กินมากเกินไป หรืออิ่มมากจนเกินไป
กินอาการที่ทำให้มีก๊าซมาก
กินอาหารรสจัด เช่น เผ็ด เปรี้ยว เค็ม หวานจัด เป็นต้น
มีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของกระเพาะอาหารทันที เช่น กินอาหารร้อนจัด หรือดื่มเครื่องดื่มเย็นจัด เมื่อท้องว่าง
ดื่มเครื่องดื่มพวกที่ทำให้เกิดแก๊สหรือฟอง อย่างเช่น น้ำอัดลมหรือเบียร์
การสูบบุหรี่จัด หรือ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
มีก้อนในบริเวณลำคอ เช่น คอพอก
ผลข้างเคียงมาจากยาบางชนิด เช่น ยาเคมีบำบัดรักษาโรคมะเร็ง
อาการสะอึกอาจสัมพันธ์กับปัญหาทางจิตใจและอารมณ์ เช่น ตื่นเต้น เครียด กังวล ซึมเศร้า กลัว เหล่านี้ก็อาจเป็นสาเหตุของการสะอึกได้
วิธีแก้อาการสะอึก
อย่างที่กล่าวมาแล้วว่า อาการสะอึกจะหายไปได้เอง ไม่จำเป็นต้องรักษา แต่ก็มีวิธีการทางภูมิปัญญาพื้นบ้านที่อาจช่วยให้อาการสะอึกหายได้เร็วขึ้น โดยเชื่อว่าวิธีการเหล่านี้สามารถขัดขวางการรีเฟล็กซ์ที่ทำให้เกิดอาการสะอึกได้ เช่น
1. สูดหายใจเข้าลึกๆ แล้วกลั้นหายใจไว้สักพัก นับ 1-10 จากนั้นหายใจออก แล้วดื่มน้ำตามทันที หรือกลั้นหายใจไว้ แล้วกลืนน้ำลายให้ได้ 3 ครั้ง แล้วหายใจตามปกติ หรืออีกวิธีให้แหงนหน้า แล้วกลั้นหายใจ นับ 1-10 จากนั้นให้หายใจออกทันที แล้วดื่มน้ำตาม 1 แก้ว
2. การหายใจเข้าออกในถุงปิดหรือถุงกระดาษ โดยเอาถุงมาครอบปากและจมูก แล้วหายใจในถุง ทนไว้สักพักจนเริ่มไม่ไหว หายใจหอบสั้น ๆ ประมาณ 1-2 นาที อาการสะอึกก็จะหายไป หรือให้ใช้มือป้องปากและปิดจมูกไว้ แต่ยังหายใจต่อเรื่อยๆ ตามปกติ ซึ่งวิธีนี้จะช่วยระงับอาการสะอึกได้ เนื่องจากได้รับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปมากขึ้นนั่นเอง
3. ดื่มน้ำถูกวิธีก็ช่วยแก้สะอึกได้ เช่น การดื่มน้ำรัวๆ 9 อึก การจิบน้ำจากแก้วเร็วๆ หลายๆ อึก ติดๆ กัน หรือจิบน้ำเย็นจัดหรือดื่มน้ำเย็นจัดช้าๆ ตลอดเวลาและกลืนติดๆ กันไปเรื่อยๆ จนกว่าอาการสะอึกจะหาย หรือจนกลั้นหายใจไม่ได้
4. ให้ก้มโน้มตัวไปข้างหน้าในระดับเอวแล้วดื่มน้ำจากขอบแก้วด้านตรงข้าม หรือด้านที่ไกลจากริมฝีปาก (กรณีนี้ให้ใส่น้ำให้เต็มแก้วก่อน) เห็นว่าหลายคนใช้วิธีนี้แล้วได้ผลมากๆ หรืออีกวิธีที่ง่ายกว่า ให้อมน้ำไว้ คางชิดอก แล้วพยายามกลืนน้ำที่อมไว้ รอบเดียวรู้เรื่อง
5. กินของเปรี้ยวจัด เช่น น้ำมะนาว 100% โดยบีบมะนาวให้ได้สัก 1 ช้อนชา แล้วนำมาจิบแก้สะอึก หรือกลืนน้ำส้มสายชูหมักจากแอปเปิ้ลสัก 1 ช้อนชา ซึ่งวิธีเหล่านี้จะช่วยจู่โจมปุ่มรับรส และทำให้หายสะอึกได้อย่างรวดเร็ว
6. กินน้ำตาลทรายเม็ดโดยไม่ดื่มน้ำตาม จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยมิชิแกน สหรัฐอเมริกา พบว่า การกลืนน้ำตาลทรายเปล่าๆ 1 ช้อนโต๊ะ (ไม่ต้องใช้น้ำ) สามารถช่วยแก้อาการสะอึกได้ถึง 19 คน จากจำนวน 20 คน
7. นอกจากกลืนน้ำตาลที่ใช้ได้ผลดีแล้ว การกลืนก้อนข้าว ก้อนขนมปังหรือเคี้ยวขนมปังแห้ง ๆ ก้อนน้ำแข็งเล็ก ๆ หรือกลืนน้ำแข็งบดละเอียดก็ช่วยได้เหมือนกัน
8. ลองเนยถั่ว 1 ช้อนชาแบบพูนๆ ระหว่างที่เคี้ยวและดุนให้เนยถั่วเหนียวๆ หลุดจากลิ้นและฟัน รูปแบบการกลืนกับการหายใจจะถูกขัดจังหวะ และอาจทำให้อาการสะอึกหายไปได้
9. ใช้นิ้วมืออุดหูประมาณ 20-30 วินาที หรืออุดหูไปด้วยแล้วดูดน้ำจากหลอดไปด้วย หรืออีกวิธีให้กดผิวเนื้อนุ่มๆ ด้านหลังติ่งหูบริเวณที่ต่อจากกะโหลกศีรษะ วิธีนี้จะช่วยส่งสัญญาณผ่อนคลายผ่านเส้นประสาทเวกัส (Vagus nerve) ซึ่งเป็นส่วนที่ทอดยาวจากก้านสมองและเชื่อมต่อกับบริเวณกะบังลม
10. ใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้จับลิ้นแล้วดึงออกมาข้างหน้า หรือแลบลิ้นออกมายาว ๆ เพื่อช่วยเปิดหลอดลมที่ปิดอยู่
11. ใช้นิ้วชี้กับนิ้วโป้งบีบจมูกค้างไว้แล้วดื่มน้ำเข้าไปประมาณ 7 อึก (หรือจนกว่าจะกลั้นหายใจไว้ไม่ไหว) โดยที่ยังบีบจมูกไว้จนรู้สึกว่าลมดันออกที่หู เขาบอกว่าทำแบบนี้ไม่เกิน 3 ครั้ง หายชะงัดนัก
12. กดจุดแก้สะอึก เป็นเคล็ดลับทางการแพทย์แผนจีน ก่อนกดจุดให้นั่งหลังตรง หรือนอนหงาย จากนั้นใช้นิ้วโป้งกดลงที่หัวคิ้วพร้อมกันทั้งสองข้าง (จุดจ่านจู๋) ส่วนที่เหลืออีกสี่นิ้วให้จับหัวไว้ ให้กดเบาๆ ก่อนแล้วค่อยๆ แรงขึ้น โดยกดแบบเบาสลับหนักค้างไว้จนกว่าจะหายสะอึก ทำประมาณ 3-6 นาที พอหายสะอึกจึงหยุดกด
13. กดจุดโดยใช้นิ้วชี้กับนิ้วโป้งบีบตรงเนินเนื้อที่อยู่ต่อจากนิ้วโป้งของมืออีกข้างหนึ่งไว้ ยิ่งแรงยิ่งดี หรืออีกวิธีหนึ่งให้กดจุดบริเวณร่องเหนือริมฝีปาก เพราะแรงกดบีบจะช่วยเบี่ยงเบนระบบประสาทของคุณจากอาการสะอึกได้
14. นวดเพดานปาก
15. เขี่ยภายในรูจมูกให้จาม แล้วจะหายสะอึกทันที
16. กำหนดลมหายใจเข้า-ออกปกติ พยายามเพ่งไปที่ลมหายใจอย่างเดียว แล้วจะสังเกตว่าระยะการสะอึกจะค่อยๆ ยาวขึ้นๆ ช่วงแรกๆ จะยังสะอึกอยู่บ้าง เมื่อทำไปเรื่อยๆ อาการสะอึกจะหายไปเอง
17. การทำให้ตกใจ เช่น ตบหลังแรงๆ โดยไม่ให้รู้ตัวมาก่อน หรือทำให้เกิดอารมณ์รุนแรง เช่น โกรธ ตื่นเต้น หรือกลัว หรือทำการเบี่ยงความสนใจ เช่น ถามว่า “น้ำเต้าหู้ทำมาจากอะไร?” อะเมซิ่งมาก มันหายจริง ๆ
18. การดมสารที่มีกลิ่นฉุน เช่น แอมโมเนีย
19. ถ้าเป็นเด็กอ่อนหรือทารกสะอึกก็ควรอุ้มพาดบ่าใช้มือลูบหลังเบา ๆ ให้เรอ
20. ส่วนวิธีอื่น ๆ ที่ใช้แล้วอาจได้ผลก็มีหลายวิธี เช่น บ้วนปาก, เคี้ยวหัวข่าแก่ๆ กินน้ำ, คาบปากกาไว้แล้วดื่มน้ำ, กินซอสเผ็ดๆ, กลืนน้ำผึ้งผสมน้ำอุ่น (น้ำผึ้ง 1 ช้อนชา), กลืนผงโกโก้หรือโอวัลติน, ค่อยๆ เคี้ยวแล้วกลืนเมล็ดผักชีลาว, ใช้กระดาษเช็ดมือปิดฝาแก้วที่มีน้ำดื่ม แล้วพยายามดื่มน้ำ (เมื่อคุณใช้แรงดูดน้ำผ่านกระดาษจะทำให้กะบังลมต้องออกแรงมากขึ้น จึงช่วยต้านอาการกระตุกของกล้ามเนื้อได้)
หากมีอาการสะอึกติดต่อกันหลายวัน ถือว่าเป็นอาการไม่ปกติ คุณควรไปพบแพทย์ เพราะอาจมีสาเหตุมาจากโรคอื่นๆ ได้ เช่น มีความผิดปกติทางสมอง การเป็นโรคทางเดินอาหาร การเป็นอัมพาต การอักเสบในช่องท้องบริเวณกะบังลม โรคหลอดเลือดสมองตีบ ฯลฯ แต่ส่วนมากผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ด้วยการสะอึกเป็นระยะเวลานานติดต่อกัน ก็เนื่องมาจากมีอาการผิดปกติทางสมอง หรือเป็นอัมพาต ซึ่งอาการเหล่านี้สามารถให้ยาเพื่อช่วยบรรเทาอาการสะอึกได้
สำนักข่าว vihoknews