6 ส.ค.60 น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกสภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปท.) และอดีต ส.ว. กทม. เปิดเผยภายหลังร่วมรับฟังงานเสวนาในหัวข้อเรื่อง “พัฒนาแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างไรให้เป็นธรรมและยั่งยืน” ที่พิพิธบางลำภู ถ.พระอาทิตย์ เขตพระนคร ว่า โครงการต่างๆ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาเป็นรัฐบาล ยิ่งเห็นได้ชัดเจนว่าในช่วงหลังที่ผ่านมานี้รัฐบาลได้ดำเนินแต่ละโครงการเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มนายทุนทั้งสิ้น
ประชาชาติ -ย้อนกลับมาที่โครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทางยาว 14 กิโลเมตร (กม.) ได้ถูกนำเสนอเป็นโครงการแรกหลังการก่อรัฐประหาร กลับกันรัฐบาลคสช.ได้ประกาศจุดยืนว่า การก่อรัฐประหารเกิดขึ้นเพื่อสร้างความปรองดอง รวมทั้งการใช้งบประมาณในการก่อสร้างทางเลียบก็ไม่ได้เป็นไปตามภารกิจของรัฐบาลคสช.แต่อย่างใด ตามมาติดกันคือโครงการหอชมเมืองกรุงเทพฯ ทางเจ้าของที่เป็นกลุ่มนายทุนได้บอกว่า นอกจากสร้างมาเพื่อชมวิวและสูงสง่าอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว ยังมีถนนทางเลียบแม่น้ำแม่น้ำระยะทาง 7 กม.เพื่อให้ทุกคนได้ปั่นจักรยาน รวมถึงบอกว่าโครงการดังกล่าวจะสะดวกสบายโดยมีการเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีทองอีกต่างหาก
“ทำให้เริ่มเกิดข้อสงสัยว่าทั้งโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา หอชมเมืองและโครงการรถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีทอง เป็นโครงการที่ได้วางแผนดำเนินการเชื่อมต่อเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนใดกลุ่มทุนหนึ่งเป็นพิเศษหรือไม่ เนื่องจากภาพรวมของแต่ละโครงการเริ่มประกอบเป็นจิ๊กซอว์ให้เห็นภาพชัดเจนว่าทุกอย่างเอื้อประโยชน์ระหว่างกัน” น.ส.รสนากล่าว
เมื่อถามว่ามองว่าโครงการขนาดใหญ่อื่น ที่กำลังจะดำเนินขึ้นเป็นการเอื้อประโยชน์แก่นายทุนหรือไม่ น.ส.รสนา กล่าวว่า ตนมองว่ามีโครงการอีกจำนวนมากที่เอื้อต่อเอกชนหลายๆ แห่ง สำหรับโครงการอื่นๆ มองในเรื่องของการใช้งบประมาณมหาศาลที่ถูกครหาว่ามีเงินทอน มีโอกาสนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งบางกรณีไม่มีการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการเป็นอันดับแรก กลับไม่มีการวิเคราะห์ใดๆ คิดว่าแบบนี้ไม่ใช่โครงการที่ดีเพราะตามขั้นตอนของกฎหมายต้องวิเคราะห์พื้นที่และเข้าสู่กระบวนการวิเคราะห์สิ่งแวดล้อมก่อน โดยเฉพาะโครงการหอชมเมืองที่เห็นได้ชัดว่ารัฐบาลเอื้อเอกชนอย่างเต็มหมัด ซึ่งยังไม่รวมถึงค่าเช่าระยะยาวที่ราคาถูกมากที่ให้กลุ่มนายทุนเช่าด้วย
น.ส.รสนา กล่าวทิ้งท้ายว่า “อยากฝากถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและคณะ ว่า การที่พวกท่านเข้ามาโดยวิธีพิเศษ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการปฎิรูป แต่ว่าใน 3 ปีที่ผ่านมา ประชาชนยังมองไม่เห็นว่ารัฐเข้ามาปฎิรูปเรื่องใด มีแต่กระบวนการที่เป็นไปตามแบบราชการเดิมๆ รวมถึงการใช้เงินจำนวนมหาศาลในบางเรื่อง ไม่ส่งผลดีต่อประเทศกลับส่งผลกระทบเกิดปัญหาระยะยาวให้กับประเทศ เช่นเดียวกับโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่อยากให้ดำเนินการก่อสร้างจากใจจริงเพราะจะเกิดปัญหาใหญ่ที่มากกว่านั้น
ทั้งเสาต่อม่อที่ตอกลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยามากกว่า 1,000 ต้นจะดึงแผ่นดินให้ทรุดลงไปกว่าเดิม ตลอดจนปัญหาขยะ น้ำหลากและน้ำท่วมซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ ตนไม่ปฎิเสธว่าทางจักรยานนั้นไม่ควรมี แต่อยากให้มีในพื้นที่ที่สามารถเชื่อมต่อกับรถสาธารณะได้และเพิ่มเส้นทางจักรยานให้ประชาชนได้ใช้งานได้อย่างแท้จริง”
สำนักข่าววิหคนิวส์