ข่าวประจำวัน » ข่าวเด่น » ​#ธีระชัย แนะรัฐพิจารณาให้ดีก่อนแจ้งข้อหาใคร..!!! หลัง “พิชัย” วิจารณ์ ศก.แย่แล้วโดน พ.ร.บ.คอมฯ

​#ธีระชัย แนะรัฐพิจารณาให้ดีก่อนแจ้งข้อหาใคร..!!! หลัง “พิชัย” วิจารณ์ ศก.แย่แล้วโดน พ.ร.บ.คอมฯ

6 August 2017
538   0

    
         “ธีระชัย” แนะส่วนราชการพิจารณารอบคอบ – สอบถามหน่วยงานที่ชำนาญเฉพาะเรื่อง ก่อนแจ้งข้อหาใคร หลัง “พิชัย นริพทะพันธุ์” โดน ปอท. เอาผิด พ.ร.บ.คอมฯ จากการเปรียบ ศก.ไทยกับทฤษฎีกบต้ม ชี้ ศก. เป็นเรื่องใหญ่เกินกว่าที่ความเห็นของบุคคลหนึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบได้ อีกทั้งทีมเศรษฐกิจเป็นมืออาชีพ ไม่ขวัญอ่อนขนาดนั้น หวั่นทำภาพพจน์รัฐบาลเรื่องปิดกั้นการแสดงความเห็นจะยิ่งแย่ลง 


       

                mgr online – จากกรณีที่ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ถูกกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ บก.ปอท. แจ้งข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก วิจารณ์เศรษฐกิจไทยเปรียบกับทฤษฎีกบต้ม

       

       ล่าสุด วานนี้ (5 ส.ค.) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้โพสต์เฟซบุ๊ก “Thirachai Phuvanatnaranubala” ว่า ไม่เห็นด้วยกับการแจ้งข้อหากับ นายพิชัย อยากให้หน่วยราชการของรัฐพิจารณาอย่างรอบคอบก่อน เนื้อหาที่โพสต์มีรายละเอียดดังนี้

       

       มีข่าวว่า นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ถูกแจ้งข้อกล่าวหา ผู้แจ้งคือกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ บก.ปอท. เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1), (2) และ (5) จากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก

       

       ผมเองไม่ได้ติดตามอ่านข้อมูลที่นายพิชัยเผยแพร่ แต่อ่านจากข่าว นายพิชัย ระบุว่า ได้พูดถึงทฤษฎี “กบต้ม” และเป็นการอ้างข้อมูลจากอาจารย์เศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

       ทฤษฎี “กบต้ม” นั้น หมายถึงสภาวะที่เศรษฐกิจเซื่องซึม และทรุดลงไปเรื่อยๆ เหมือนกบที่หล่นลงไปอยู่ในหม้อต้มน้ำ ที่น้ำค่อยๆ ร้อนขึ้นทีละน้อยๆ จนกบตาย เปรียบเทียบกับกบที่หล่นลงไปในน้ำที่ร้อนเดือด จะรีบกระโดดออกจากหม้อ

       

       พูดภาษาง่ายๆ ถ้าสภาวะรุนแรงเฉียบพลัน ก็จะเกิดเสียงเรียกร้องให้ปรับปรุงแก้ไขทันที

       แต่สภาวะที่ซึมลึก สาละวันเตี้ยลงนั้น ผู้คนจะทนกันไป กว่าจะรู้ตัวว่าต้องแก้ไขประการใด ก็สายเสียแล้ว

       

       ผู้ที่คิดทฤษฎี “กบต้ม” น่าจะหวังดี เพื่อเตือนอย่าให้ประชาชนและผู้กำหนดนโยบาย ชะล่าใจ หรือตายใจ ละเลยการวางแผนแก้ไข

       

       เนื่องจากผมเองก็เผยแพร่บทความทางวิชาการด้านเศรษฐกิจเป็นประจำ และในเฟซบุ๊ก ก็มีผู้ที่เผยแพร่หรือแชร์บทความทางเศรษฐกิจจำนวนมาก จึงมีคนเสี่ยงอาจจะโดนแจ้งความแบบนี้จำนวนหลายพันคน

       

       ผมจึงจำเป็นต้องให้ข้อมูลทางกฎหมาย เพื่อพวกเราชุมชนผู้ชอบวิจารณ์เศรษฐกิจ จะเตรียมไว้ต่อสู้

       

       หนึ่ง

       การบรรยายถึงสภาพเศรษฐกิจ เป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ ต่างคนต่างความเห็น และกรณีที่เป็น “ความคิดเห็น” นั้น ย่อมต่างจาก “ข้อเท็จจริง”

       

       สอง

       มาตรา 14 (1) ที่แก้ไขใหม่ ระบุว่า การเผยแพร่ต้องกระทำโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง จึงจะเข้าองค์ประกอบความผิด

       

       และต้อง “โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน” จึงจะเข้าองค์ประกอบความผิด

       ซึ่งภาระการพิสูจน์มิใช่ง่าย เพราะความเสียหายต่อประชาชน ต้องไม่ใช่เพียงนับร้อย นับพัน และต้องเป็นตัวเงิน ไม่ใช่ความรู้สึก

       

       สาม

       มาตรา 14 (2) กำหนดว่า จะมีความผิดเฉพาะถ้า

       (ก) เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ

       (ข) ความปลอดภัยสาธารณะ

       (ค) ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ

       (ง) โครงสร้างพื้นฐานสาธารณะของประเทศ และ

       (จ) ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน

       จึงต้องถามว่า บทความของนายพิชัยเพียงอย่างเดียว จะสร้างผลกระทบดังว่านั้น ได้จริงหรือ

       

       สี่

       มาตรา 14 (5) คือ การแชร์ข้อมูลที่รู้อยู่แล้วว่าผิดกฎหมาย

       

       ซึ่งจะต้องผ่านด่านมาตรา 14 (1) และ (2) ให้ได้เสียก่อน

       

       ผมเองไม่ได้พยายามจะปกป้องนายพิชัย เพราะไม่ได้อ่านข้อความ แต่ผมกังวลมาก ถ้าหากส่วนราชการใดก็ตาม มีการใช้กฎหมายนี้ อย่างหละหลวม เพราะจะมีผลเป็นการกดดันหรือปิดกั้นการแสดงความเห็นที่เสรีได้ และองค์กรต่างประเทศ ซึ่งให้คะแนนเรื่องทำนองนี้ต่ำอยู่แล้ว ภาพพจน์อาจจะแย่ลง อันสวนทางกับที่รัฐบาลพยายามปรับให้สูงขึ้น

       

       ผมเข้าใจดีครับว่า ผู้ที่ไม่ใช่นักวิชาการ และไม่มีความรู้ทางเศรษฐกิจ อาจจะกังวลไปต่างๆ นาๆ เป็นของธรรมดา เมื่ออ่านข้อวิจารณ์ ก็อาจจะทำให้ตกใจได้ แต่เศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นเรื่องที่ใหญ่โตมโหฬารมากครับ ใหญ่โตเกินกว่าที่ความเห็นของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง จะสามารถทำให้เกิดผลกระทบ และเสียหายอย่างกว้างขวาง ตามที่กฎหมายบัญญัติ

       

       จะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องสมคบดำเนินการร่วมกัน โดยกลุ่มบุคคลที่มีความน่าเชื่อถือจำนวนมาก บอกความเท็จต่อๆ กัน ซ้ำๆ และผมมั่นใจด้วยว่า ทีมงานเศรษฐกิจของรัฐบาลนี้ เป็นมืออาชีพ ไม่ได้ขวัญอ่อน ที่จะแคร์ต่อข้อวิจารณ์ส่วนบุคคล

       

       ทั้งนี้ ส่วนราชการที่แจ้งความผิด อาจจะใช้เหตุผลว่า ถ้าไม่ผิดจริง ศาลก็จะยกฟ้อง แต่การสร้างภาระ เสียเวลาและค่าใช้จ่าย ให้แก่ผู้ถูกฟ้อง น่าจะมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยกรณีที่คิดว่าอาจจะว่าเข้าข่ายมีความผิด ผมอยากจะเสนอให้มีการสอบยันกันส่วนราชการอื่นๆ ที่มีความรู้ความเข้าใจเฉพาะเรื่องนั้นๆ เสียก่อน 

สำนักข่าววิหคนิวส์