อาเซียนเรียกร้องหยุดทำทะเลจีนใต้เป็นพื้นที่ทหาร
เมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนที่กรุงมะนิลาของฟิลิปปินส์ ออกแถลงการณ์ร่วมซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ได้ในที่สุด หลังการออกแถลงการณ์ดังกล่าวต้องถูกเลื่อนออกไปเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา เนื่องจากหลายฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้ถึงการใช้ถ้อยคำในแถลงการณ์ ที่อาจต้องพาดพิงถึงจีนซึ่งเป็นคู่พิพาทของหลายชาติในอาเซียน กรณีอ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนกันเหนือพื้นที่ทะเลจีนใต้
BBC – เนื้อหาของแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวไม่ได้เอ่ยชื่อจีนโดยตรง แต่มีเนื้อหาที่ชัดเจนและใช้น้ำเสียงที่แข็งกร้าวขึ้นกว่าร่างแถลงการณ์ฉบับแรก โดยระบุว่าอาเซียน “เน้นถึงความสำคัญของการจำกัดควบคุมตนเอง และการไม่ระดมกำลังเสริมสร้างแสนยานุภาพทางการทหาร”
แถลงการณ์ยังระบุว่า หลังจากที่อาเซียนได้อภิปรายถกเถียงกันอย่างเข้มข้น ชาติสมาชิกจำนวนหนึ่งได้แสดงความกังวลถึงการถมแนวปะการังสร้างเกาะเทียมในทะเลจีนใต้ รวมทั้งกิจกรรมอื่นๆ ในพื้นที่ซึ่ง “ทำลายความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน เพิ่มความตึงเครียดในภูมิภาค บ่อนทำลายสันติภาพ ความมั่นคง และเสถียรภาพ”
นักการทูตผู้หนึ่งเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า หนึ่งในชาติสมาชิกอาเซียนที่ผลักดันให้แถลงการณ์ดังกล่าวรวมเอาเนื้อหาที่เป็นประเด็นพิพาทไว้ด้วยนั้น คือ เวียดนาม ซึ่งอ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะสแปรตลีย์และหมู่เกาะพาราเซลทับซ้อนกับจีน โดยล่าสุดเพิ่งมีความขัดแย้งกันในเรื่องการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติในน่านน้ำดังกล่าว
หลายฝ่ายมองว่า การที่อาเซียนประสบปัญหาในการออกแถลงการณ์ประเด็นทะเลจีนใต้ แสดงถึงอิทธิพลของจีนที่มีต่ออาเซียนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่ยังไม่มีความแน่นอนว่า รัฐบาลสหรัฐฯ จะให้ความสำคัญกับประเด็นความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากน้อยเพียงใด
ที่ผ่านมาจีนมีความอ่อนไหวสูงต่อแถลงการณ์ของอาเซียนในเรื่องทะเลจีนใต้ โดยประท้วงไม่ยินยอมแม้แต่การออกแถลงการณ์ที่ระบุถึงเรื่องดังกล่าวโดยอ้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกล่าวถึงเกาะเทียมทั้ง 7 แห่งของจีนในทะเลจีนใต้ซึ่งมีสถานที่ทางทหารทั้งลานบิน คลังเก็บขีปนาวุธ เรดาร์ และบางแห่งมีโรงจอดเครื่องบินรบด้วย
สำนักข่าววิหคนิวส์