“ฝ่ายสิทธิฯ สมาคมนักข่าวฯ ขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจยุติการสอบสวนคดีที่ไม่เป็นธรรม ไม่เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย และมีลักษณะเป็นการรับใช้ผู้มีอำนาจในคดีนี้โดยพลัน”
11 ส.ค.60 พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงความคืบหน้าในการพิจารณาอุทธรณ์คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ เมื่อปี 2551 ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับการคัดลอกคำพิพากษาคดีดังกล่าวจากศาลฎีกาฯ โดยกำลังติดตามอยู่ ปกติการคัดลอกคำพิพากษากลางใช้เวลา 1 – 2 สัปดาห์ มั่นใจว่า ป.ป.ช.จะพิจารณาอุทธรณ์ได้ทันภายในกรอบเวลา 30 วัน โดยผลการพิจารณาจะต้องตอบสังคมได้
แนวหน้า – ”เรียนตรงๆ ถ้าไปถามนักกฎหมายวันนี้ต่างต้องทำแบบ ป.ป.ช.คือ รอการวิเคราะห์ข้อมูล ข้อเท็จจริงต่างๆ ไม่ใช่บอกว่า จะทำนู่นจะทำนี่ มันไม่ได้ กฎหมายมันต้องชัด แล้วเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเขาก็รู้ว่า เดดไลน์มันเมื่อไร ถ้าปล่อยให้เลยจะไม่มีคำแก้ตัวทันที ผมยืนยันว่า ทันตามกรอบ 30 วัน ในเมื่อกฎหมายเขียนไว้อย่างนั้นเราต้องทำให้ทัน ถ้าเราทำไม่ทัน มันเหมือนกับแพ้ตั้งแต่ยังไม่ได้ชก” พล.ต.อ.วัชรพล กล่าว
เมื่อถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตจากกลุ่มพันธมิตรฯ ถึงท่าทีของ ป.ป.ช.ไม่ค่อยอยากดำเนินการอุทธรณ์ พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า เป็นเรื่องที่คาดคะเนกันไป แต่เราต้องทำตามหน้าที่ หลักเกณฑ์ที่จะพิจารณาว่า จะยื่นอุทธรณ์หรือไม่นั้นต้องไปดูประเด็นที่ ป.ป.ช.ชุดก่อนมีมติชี้มูลความผิดก่อนส่งฟ้อง และอีกหลายเรื่องในคำพิพากษา ทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง โดยคำพิพากษากลางและคำพิพากษาของตุลาการแต่ละคนจึงมีความสำคัญ นอกจากนี้ ยังต้องนำหลักฐานที่กลุ่มพันธมิตรฯ ยื่นเข้ามาพิจารณาด้วย
เมื่อถามว่า ป.ป.ช.จำเป็นต้องยื่นอุทธรณ์เพื่อให้สิ้นข้อครหาหรือไม่ พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า เชื่อว่า ป.ป.ช.จะนำทั้งข้อเท็จจริง และเรื่องต่างๆ มาพิจารณา แล้วออกเป็นมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
ส่วนจะกดดันหรือไม่ ที่ถูกจับตามองถึงสายพันธ์ที่ใกล้ชิดกับตระกูลวงษ์สุวรรณ พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า ไม่กดดัน เพราะเป็นหน้าที่ ทุกอย่างต้องทำตามข้อกฎหมาย ข้อเท็จจริง และพยานหลักฐาน แม้ตนจะไม่ได้อยู่กระบวนการของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดที่ชี้มูลความผิด แต่เมื่อเป็นเรื่องของ ป.ป.ช.ทุกอย่างต้องเป็นไปตามระบบ
เมื่อถามย้ำว่า สังคมวิพากษ์วิจารณ์กันว่า ประธาน ป.ป.ช.ดูเหมือนจะเกรงใจจำเลยบางคนในคดีนี้เป็นพิเศษ พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า “มันคงปฏิเสธไม่ได้ เป็นธรรมดา มันเป็นส่วนหนึ่งของหน้าที่การงาน มันอาจจะเป็นจุดอ่อนของชีวิต มันเลือกไม่ได้ แต่การกระทำของเราจะเป็นอย่างไรนั้นต่างหาก”
ส่วนจะเข้าร่วมพิจารณาว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.จะอุทธรณ์หรือไม่ เพราะถูกครหาว่า มีส่วนได้ส่วนเสียนั้น พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า ต้องพิจารณาทั้งหมดว่า จะเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์ องค์กรจะเป็นอย่างไร คิดอยู่ทุกวัน ต้องเอาประโยชน์ของประเทศชาติเป็นที่ตั้ง ตัวเองไม่เป็นไรเพราะพร้อม เนื่องจากเป็นภาระหน้าที่และความรับผิดชอบ แต่ตอนนี้ยังไม่ได้ตัดสินใจใดๆ
เมื่อถามว่า ติดใจหรือไม่ เพราะคำพิพากษาศาลฎีกาฯ ขัดแย้งกับคำพิพากษาศาลปกครองกลาง ประธาน ป.ป.ช.กล่าวว่า มันมองกันคนละมุม ในเรื่องของอาญามันต้องมีเจตนาพิเศษจริงๆ ที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและร่างกายผู้อื่น ไม่เช่นนั้นจะต้องยกประโยชน์ หลักกฎหมายอาญาเป็นอย่างนั้น
สำนักข่าววิหคนิวส์