นักวิชาการเสื้อแดง 128 คน จากหลายสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ลงชื่อในจดหมายเปิดผนึกส่งถึงจุฬาฯ แสดงความกังวลต่อสิทธิเสรีภาพของนิสิต กรณีเหตุการณ์ในวันพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนเมื่อวันที่ 3 ส.ค. หลังผู้บริหารมหาวิทยาลัย มีคำสั่งให้คณะกรรมการส่งเสริมวินัยนิสิต สอบสวนการกระทำของกลุ่มนิสิตสมาชิกสภานิสิตฯ 8 คน รวมทั้งเนติวิทย์
วันจันทร์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ.2560 bbc รายงานว่า รายชื่อนิสิตจุฬาฯ 8 คน มีชื่อของนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ประธานสภานิสิต นิสิตคณะรัฐศาสตร์ ซึ่งมีข้อสอบสวนจากมหาวิทยาลัยเพิ่มเติม กรณี ใช้สถานที่มหาวิทยาลัยโดยไม่ได้รับอนุญาต จัดประชุมฟังความเดือดร้อนผู้ค้าบริเวณสวนหลวงสแควร์ รวมทั้งนายศุภลักษณ์ บำรุงกิจ รองประธานสภานิสิต ซึ่งเป็นนิสิตที่ถูกอาจารย์ล็อกคอในพิธีถวายสัตย์ฯ
เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง กลุ่มนักวิชาการเสื้อแดง เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกถึงผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผ่านทางเฟซบุ๊กเพจ ในวันนี้ (14 ส.ค.) โดยระบุว่า จากการลงนามคำสั่งให้สอบสวนของ รศ.ดร.บัญชา ชลาภิรมย์ รองอธิการบดีฝ่ายกำกับดูแลด้านการพัฒนานิสิตฯ ดังกล่าว ทำให้คณาจารย์หลายสถาบัน “วิตกกังวลต่อทั้งสิทธิเสรีภาพของนิสิตที่ถูกสอบสวนและต่อเกียรติภูมิของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย”
จดหมายเปิดผนึก ระบุว่า ตามที่ในคำสั่งให้สอบสวน 8 นิสิต ระบุว่าทำให้จุฬาฯ เสื่อมเสียชื่อเสียง จากการแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมในวันพิธีถวายสัตย์ และการใช้ที่มหาวิทยาลัยจัดประชุมโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่เมื่อหลักฐานภาพถ่ายและคลิปวิดีโอของเหตุการณ์ในวันที่ 3 ส.ค.ถูกเผยแพร่ออกไปทางสื่อมวลชน “ผู้คนจำนวนมากที่ได้เห็นคลิปวิดีโอของเหตุการณ์ดังกล่าว กลับเห็นว่าการกระทำของอาจารย์จำนวนหนึ่งต่างหากที่ทำให้จุฬาฯ เสื่อมเสียชื่อเสียง” จึงขอให้ทางจุฬาฯ พิจารณาเรื่องนี้อย่างมีสติและ เที่ยงธรรม
“แม้ว่าผู้บริหารจุฬาฯ มีอำนาจที่จะให้คุณให้โทษแก่สมาชิกของประชาคม แต่อำนาจนั้นพึงใช้อย่างยุติธรรมและชอบธรรม ประการสำคัญ ผู้บริหารจุฬาฯ ยังมีสถานะเป็น “ครูบาอาจารย์” ที่พึงมีใจเปิดกว้างต่อธรรมชาติอันแตกต่างหลากหลายและเร่าร้อนของคนรุ่นใหม่ หากผู้บริหารจุฬาฯ เห็นว่านิสิตทำไม่ถูก ก็พึงแก้ไขด้วยความปรารถนาดี ไม่ใช่มุ่งลงโทษหรือมุ่งขับไสพวกเขาออกไปจากประชาคม” จดหมายเปิดผนึกระบุ
เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองระบุอีกว่า ความเห็นต่างของฝ่ายคนรุ่นใหม่ที่แสดงความไม่เห็นด้วยต่อการหมอบกราบในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณ มหาวิทยาลัย ควรเปิดพื้นที่ให้มีการถกเถียงถึงข้อดี ข้อเสีย เพื่อหาทางแก้ไขร่วมกัน โดยไม่ใช้วิธีการแก้ปัญหาด้วยอำนาจต่อนิสิต หลังจากฝ่ายนิสิตได้แสดงความคิดเห็นในพื้นที่สาธารณะ แต่ฝ่ายผู้บริหารจุฬาฯ ยังไม่เคยแสดงเหตุผลโต้แย้ง
สำหรับนักวิชาการที่ร่วมลงชื่อในจดหมายเปิดผนึก อาทิ อนุสรณ์ อุณโณ เกษียร เตชะพีระ นฤมล ทับจุมพล อรรถพล อนันตวรสกุล บุญเลิศ วิเศษปรีชา ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี พวงทอง ภวัครพันธุ์ โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ เป็นต้น
สำนักข่าววิหคนิวส์