เริ่มด้วยกาแฟ ๒ แก้วจากเครื่องชงกาแฟบนเตาไฟฟ้าที่กบหาซื้อมาให้ กับกองหน้งสือสองสามเล่ม มี บันไดดนตรีที่บ้านอุ่นรัก, อาชญากรรมกับการลงทัณฑ์-Crime and Punishment, ๕๐ ความคิดเปลี่ยนมนุษยชาติ และศิลปวัฒนธรรม มากองไว้ตรงหน้ากับแผ่น CD รวมชุดไหมไทย ที่เปิดด้วยเพลงต้นวรเชษฐ์ ดังแว่วมาจากในห้องนอน
มาป่าหมู่บ้านเด็ก ที่เราเริ่มดูแลมาได้ ๓๘ ปีเข้าปีนี้ พลิกฟื้นจากไร่อ้อยจนกลายเป็นป่าที่สมบูรณ์กว่าป่าเหนือโรงเรียน ช้างในป่าจึงลงมากินอาหารเป็นครั้งคราว จนเราต้องปลูกต้นกล้วยนับร้อยต้นให้เป็นอาหารช้าง เสาร์นี้ลงปลูกฝรั่งเพิ่ม ที่มีผู้บริจาคให้อีก ๕๐๐ ต้น คราวนี้เด็กคงสนุกที่จะเข้าป่าหาฝรั่ง เชื่อว่าโตไม่ทันเด็กกิน คงต้องแข่งกับช้างป่า
ผมชอบเอาหนังสือมากองตรงหน้า นึกอยากอ่านเล่มไหน ก็อ่าน ไม่ต้องอ่านให้หมดเล่ม สักพักก็เดินไปกินอาหารกับเด็กๆ ที่โรงอาหาร เป็นชีวิตที่มีความสุข
ผมเข้ามาโรงเรียนเมื่อวานพร้อมกับทีมตู้หนังสือ เพื่อวางแผนทำค่ายหนังสือที่อ่างทองเดือนหน้า และวางแผนปลูกผักกินในโรงเรียน ที่เราวางกฎไม่ซื้อผักตลาด มีผักอะไรก็เอามากิน ไม่พอก็ปลูก บอกเด็กกับผู้ใหญ่ในที่ประชุมสภาโรงเรียน ที่มีประชุมทุกเย็นวันศุกร์ว่า ตัองปลูกผักให้พอกินให้ได้ ทุกคนต้องลงปลูก เด็กคนหนึ่งยกมือบอกว่า “ผมจะขอทำสวนครัวหน้าบ้าน ไม่ไปลงแปลงผักส่วนกลาง”
ทีมตู้หนังสือกลับเย็นวันนั้น ผมกับครูใหญ่ อยู่ต่อ เพราะต้อง ฉายหนังให้เด็กโตดูตอนบ่ายวันเสาร์หลังลงงานปลูกต้นไม้ตอนเช้า วันนี้เอาเรื่อง The Blind Side มาฉายเสร็จก็คุยกับเด็กๆ ผมจะคัดหนังชีวิตจริงมาฉายเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กๆที่จะมุ่งสู่อนาคต
ได้คุยกับครูวิทยาศาสตร์ ๒ คน คนหนึ่งโตจากหมู่บ้านเด็ก มาอยู่กับเราเมื่ออายุ ๘ ขวบมีเชื้อสายกะเหรี่ยง จะเรียกว่า”ปกาเกอะญอ” ซึ่งแปลว่า”คนที่มีชีวิตเรียบง่ายสมถะ” จากป่าสังขละบุรี มาอยู่กับเราห้าคน คนหนึ่งจบนาฏศิลป์ สุพรรณบุรี มีลูกมีสามีไปแล้ว คนหนึ่งไปเรียนแม่โจ้ ที่เชียงใหม่ อีกคนจบชั้น ม.๓ ส่วนคนนี้เรียนจบปริญญาตรีจากนครปฐม กลับมาเป็นครูวิทยาศาสตร์ ชื่อ รุ้ง มาเล่าว่าจะสอนวิทยาศาสตร์แบบไหน มีอาจารย์จรวย ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ ฟังอยู่ด้วย
ผมยุให้เธอทำตัวเป็นนักวิทยาศาสตร์ สำรวจป่าหมู่บ้านเด็ก ให้เรียนจากป่า ทั้งต้นไม้ นก สัตว์ ไปพร้อมๆกับเด็ก ซึ่งเป็นที่มาของแนวคิด “เรียนจากเรื่องใกล้ตัวไปหาไกลตัว” ที่ผมนำเสนอมาหลายปี แล้วนำสิ่งที่เห็นพบมาค้นคว้าต่อ จากหนังสือ จาก Google และผมจะยกห้องให้ ๑ ห้อง ทำเป็นห้องวิทยาศาสตร์ ใส่อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ต่างๆลงไป ทำคู่กับเพื่อนเธอ ชื่อ นัท ที่จบมาด้วยกัน โดยครูป้อม ผจก.โรงเรียนจะจัดการให้
ผมบอกเธอว่า ไปหาหนังเรื่อง “Medicine Man” ที่ตัวเอกเป็นหมอยา(Sean Connery นำแสดง) เข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในป่าฝนอะเมซอน มาดู จะได้เกิดแรงบันดาลใจ แล้วดูระบบการศึกษาทั่วโลก โดยเฉพาะของฟินแลนด์ ที่เราทำคล้ายๆกันมาตั้งแต่แรกตั้งหมู่บ้านเด็ก มาเป็นแนวทาง
ผมก็ชอบยุคนหนุ่มสาว ให้กล้าทำอะไรใหม่ๆ เชื่อว่าเธอมีฐานมาจากคนอยู่กับป่าและอยู่กับหมู่บ้านเด็กมาแต่ต้น คงเข้าใจและคงอยู่กับเราได้อีกนาน
มีเด็กอีกคน ชื่อ พลอย เพิ่งจบปริญญาตรี Computer จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ตัวรองอธิการมาคัดเลือกเองที่หมู่บ้านเด็ก แอ๊วจะจีบให้สอนที่นี่ก่อนไปทำงานข้างนอก ซึ่งเรามักจะหนุนให้เด็กออกไปหาประสบการณ์ในโลกกว้าง ก่อนคิดกลับมาทำงานในหมู่บ้านเด็ก
เย็นวันศุกร์เข้าร่วมประชุมสภาโรงเรียน อธิบายหลักการปกครองตนเอง เปรียบเทียบกับระบบประชาธิปไตยของโลก ที่นี่เราเรียกว่า”สภาโรงเรียน” ที่ทุกคนในชุมชนต้องเข้าร่วม เราทำมาตั้งแต่แรกตั้งที่แควน้อย ปี ๒๕๒๒ ก็ลดภาวะอำนาจนิยมของผู้ใหญ่ไปได้พอสมควร มีอิสระภาพที่จะกำหนดวิถีชีวิตของชุมชนหมู่บ้านเด็กไปได้ส่วนหนึ่ง
เช้าวันอาทิตย์ คุยกับเยาวชนเรื่องความรัก ซึ่งเกิดทุกขึ้นทุกยุคทุกสมัย มีผู้ใหญ่ร่วมด้วย แอ๊วเป็นคนนำเรื่อง เราบอกว่าความรักเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ แต่ตั้งระยะห่างกันหน่อย ความสัมพันธ์ทางเพศต้องควบคุมด้วยตัวเอง ผู้ใหญ่จะให้คำปรึกษาและจะแทรกแซง โดยเฉพาะครูใหญ่ จะเข้าไปทันที ก็ไม่รู้จะทันหรือเปล่า
แอ๊วทำเช่นนี้มารุ่นแล้วรุ่นเล่า ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย จนอายุย่างเข้า ๗๐ ปีแล้ว ทำอย่างไรได้ คำโบราณเขาว่า “เอาลูกเค้ามาเลี้ยง เอาเมี่ยงเค้ามาอม” ก็ต้องทำตัวเป็นพ่อเป็นแม่ให้เด็กๆ รุ่นแล้วรุ่นเล่า
พิภพ ธงไชย
FB : Pibhop Dhongchai
๒๐/๘/๖๐