สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยออกแถลงการณ์ไม่ยอมรับคำสั่ง 2 ฉบับของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่สั่งตัดคะแนนและสั่งให้สมาชิกสภานิสิตสามัญพ้นจากตำแหน่ง ด้านเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ประธานสภานิสิตฯ เผยว่าเสียใจ และกังวลอนาคตอาจถูกสั่งพักการเรียน
bbc – แถลงการณ์ของสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยระบุว่า ตามที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้มีคำสั่งที่ 4929/2560 เรื่องให้สมาชิกสภานิติสามัญพ้นจากตำแหน่ง กรณีที่สมาชิกนิสิตสามัญถูกลงโทษตัดคะแนนความประพฤตินิสิตจำนวน 25 คะแนน ในข้อกล่าวหาที่ว่าสมาชิกสภานิสิตสามัญกลุ่มนี้ได้ประพฤติตนไม่เหมาะสม โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ.2560 ตามคำสั่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ 4928/2560
แถลงการณ์ระบุด้วยว่า สภานิสิตฯ อันมาจากการเลือกตั้งของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอแสดงจุดยืนไม่ยอมรับคำสั่งทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว และขอเรียกร้องให้คณะกรรมการชี้แจงกระบวนการพิจารณาและข้อกล่าวหาอย่างชัดเจนแก่นิสิตที่ถูกสอบสวน รวมทั้งเปิดโอกาสให้นิสิตที่ถูกสอบสวนได้มีเวลาในการรวบรวมพยานหลักฐานและแก้ข้อกล่าวหาอย่างเต็มที่ในชั้นของการอุทธรณ์ต่อไป
นอกจากนี้สภานิสิตฯ ยังขอแสดงความกังวลต่อกระบวนการสอบสวนทางวินัยกับอาจารย์ที่เข้าไปทำร้ายร่างกายนิสิตที่ไม่มีความคืบหน้าออกมาแต่อย่างใด ให้เกิดความเป็นธรรมต่อนิสิตที่ถูกกระทำความรุนแรงด้วย
นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ซึ่งติดเข็มประธานสภานิสิตจุฬาฯ ได้ไม่ถึง 2 ชั่วโมง ก่อนถูกสั่งปลด กล่าวว่า “เสียใจกับมหาวิทยาลัยที่ทำแบบนี้ ยังหวังว่ามหาวิทยาลัยจะให้ความเป็นธรรม ผมยังมีงานต้องทำอีกมากในจุฬาฯ ตามวิสัยทัศน์ที่ผมคิดไว้”
นี่คือความรู้สึกของนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่บอกกับบีบีซีไทย หลังถูกปลดพ้นตำแหน่งประธานสภานิสิตแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“เมื่อช่วงเช้านี้ ผมเพิ่งได้รับเข็มประธานสภานิสิตฯ ในพิธีไหว้ครู.. มาตอนบ่าย ผมถึงรู้ว่าผมถูกปลดแล้ว มีคำตัดสินตั้งแต่วานนี้ (30 ส.ค.) แต่เขาไม่ได้บอกผม” นายเนติวิทย์กล่าว
เขาเพิ่งได้รับหนังสือคำสั่งจากคณะกรรมการส่งเสริมวินัยนิสิต ในฝ่ายกิจการนิสิต จุฬาฯ เมื่อช่วงเวลา 16.00 น. ที่ผ่านมา มีเนื้อหาให้ลงนามยอมรับความผิด 5 ข้อ เช่น ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของมหาวิทยาลัย ไม่ประพฤติศีลธรรมดีงาม เป็นผลให้ถูกตัดคะแนนความประพฤติ 25 คะแนน
ตามระเบียบจุฬาฯ ว่าด้วยสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2529 ผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิสิตฯ ต้องไม่เป็นนิสิตที่เคยถูกลงโทษตัดคะแนนความประพฤติสะสมตั้งแต่ 20 คะแนนขึ้นไป นั่นทำให้นายเนติวิทย์กับเพื่อนอีก 4 คน ต้องพ้นจากการเป็นสมาชิกสภานิสิตฯ
การสอบสวนเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 ส.ค. มีนิสิต 8 คนที่ถูกสอบสวน ในฐานะที่มีส่วนรู้เห็นกับการเดินออกมาจากพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนของนิสิตใหม่ประจำปี 2560 ที่พระบรมราชานุสาวรีย์ 2 รัชกาลในจุฬาฯ
นิสิตถูกเรียกสอบสวนทีละคน ใช้ช่วงตั้งแต่ 13.30-19.00 น. ส่วนของนายเนติวิทย์ใช้เวลา 50 นาที โดยมี ผศ.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะรัฐศาสตร์ ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษา และอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ในฐานะผู้ปกครอง เข้าร่วมรับฟัง แต่ไม่เปิดโอกาสให้ซักถามใดๆ
ประเด็นที่คณะกรรมการมุ่งตรวจสอบคือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีการเตรียมการล่วงหน้าระหว่างนิสิตกับช่างภาพหรือไม่ และนายเนติวิทย์ได้แจ้งให้ รศ.ดร.บัญชา ชลาภิรมย์ รองอธิการบดีด้านกิจการนิสิต (ขณะนั้น) ทราบก่อนหรือไม่ว่าจะมีนิสิตเดินออกจากสถานที่ทำพิธี
คนส. นัดถกปมเนติวิทย์ 4 ก.ย. เรียกร้องจุฬาฯ แจง
นักวิชาการบางส่วนของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ได้ออกมาเคลื่อนไหว
ผศ.อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นแกนนำของคนส.กล่าวกับบีบีซีไทยทางโทรศัพท์ว่ากรณีนี้เป็นการใช้ระเบียบกฎเกณฑ์ลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของนิสิต “เข้าใจว่านายเนติวิทย์กับพวกเคลื่อนไหวท้าทายคุณค่าและหลักบางประการที่คนบางกลุ่มยึดถือ มีคนบางกลุ่มผูกขาดว่าจุฬาฯ ต้องหมายความว่าอย่างนั้นอย่างนี้ แต่เมื่อถูกคนรุ่นหลังท้าทาย จึงพยายามหาวิธีการยับยั้งการท้าทาย”
เขายังได้เรียกร้องให้จุฬาฯ ตอบคำถามสังคมว่านิสิตที่ถูกสอบสวนมีพฤติกรรมผิดระเบียบวินัยของมหาวิทยาลัยอย่างไร อาศัยกฎข้อไหนลงโทษ และทำผิดแบบไหนจะถูกตัดคะแนนเท่าไร เพื่อให้เกิดความชัดเจน
ความเคลื่อนไหวต่อไปของกลุ่มคนส.คือจะจัดแถลงข่าววันที่ 3 ก.ย. ที่คณะสังคมวิทยาฯ เกี่ยวกับประเด็นสิทธิเสรีภาพในสถาบันการศึกษา โดยมีกรณีนายเนติวิทย์กับเพื่อน และกรณี ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคศึกษาด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถูกออกหมายเรียกกรณีฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.
หลังจุฬาฯมีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนนิสิตที่เดินออกจากพิธีถวายสัตย์ คนส.ที่เกิดจากการรวมตัวของคณาจารย์และนักวิชาการไทย 128 คนได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงผู้บริหารจุฬาฯ เตือนว่า “หากการตัดสินของจุฬาฯ ขัดแย้งกับหลักฐานที่ปรากฏ ไม่เพียงแต่จะส่งผลให้ผู้บริหารจุฬาฯ ถูกพิพากษาจากสังคม แต่จะส่งผลต่อชื่อเสียงและเกียรติภูมิของจุฬาฯ อย่างสำคัญ”
สำนักข่าววิหคนิวส์