ข่าวประจำวัน » ข่าวเด่น » ​#รำลึก27ปี #สืบนาคะเสถียร! 

​#รำลึก27ปี #สืบนาคะเสถียร! 

1 September 2017
864   0

         ส่อง 10 ข้อที่ไม่เคยรู้ ‘ห้วยขาแข้ง’ ป่าที่แลกด้วยชีวิต ในวันที่ 1 กันยายน ของทุกปี ถือว่าเป็นวันรำลึกถึงการจากไปของ สืบ นาคะเสถียร นักอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ที่ได้ทุ่มเททั้งชีวิต และจิตวิญญาณในการอนุรักษ์ป่าและสรรพชีวิตในผืนป่า 

           นอกจากนี้ยังปลุกจิตสำนึกให้คนไทยอนุรักษ์ผืนป่าและเห็นความสำคัญของป่าไม้ สัตว์ป่า และสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ “ป่าห้วยขาแข้ง” และ “ทุ่งใหญ่นเรศวร” ได้รับยกย่องให้เป็นมรดกทางธรรมชาติของโลก ตั้งแต่ปี 2534 เป็นต้นมา

          สืบ นาคะเสถียร มีชื่อเดิมว่า “สืบยศ” เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2492 ที่จังหวัดปราจีนบุรี เป็นบุตรของนายสลับ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี และนางบุญเยี่ยม สืบ นาคะเสถียร มีพี่น้องทั้งหมด 3 คน โดย สืบ นาคะเสถียร เป็นบุตรชายคนโต

          สืบ นาคะเสถียร สำเร็จปริญญาตรีและปริญญาโทจากคณะวนศาสตร์ มหาลัยเกษตรศาสตร์ และเริ่มชีวิตข้าราชการ โดยบรรจุเข้ารับราชการ ตำแหน่งพนักงานป่าไม้ตรี กองอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ เมื่อปี พ.ศ. 2518

          ต่อมาในปี พ.ศ. 2522 สืบได้รับทุนการศึกษาจากบริติชเคาน์ซิล เรียนต่อในระดับปริญญาโทอีกครั้ง สาขาอนุรักษ์วิทยา ที่มหาวิทยาลัยลอนดอน ในอังกฤษ และจบการศึกษาในปี พ.ศ. 2524 หลังสำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษ สืบ นาคะเสถียร กลับมารับตำแหน่งหัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบางพระ มีส่วนร่วมในการจัดการ และประสานงาน รวมทั้งเป็นวิทยากร ฝึกอบรมพนักงาน พิทักษ์ป่าอีกหลายรุ่น

ความหมายจากเสียงปืน

          หลังจากสืบได้ทำงานมาระยะหนึ่ง ในปี พ.ศ.2532 สืบ นาคะเสถียร เข้ามารับตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งซึ่งในขณะนั้นมี ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า การล่าสัตว์ของกลุ่มผู้มีอิทธิพล เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าถูกยิงเสียชีวิต ปัญหาความยากจนของชาวบ้านรอบป่า 

          ด้วยความที่ป่าห้วยขาแข้งเป็นผืนป่าที่อุดมด้วยพรรณไม้ และสัตว์ป่ามากมาย ทำให้หลายฝ่ายต่างจ้องบุกรุก เพื่อหาประโยชน์จากผืนป่า สืบ นาคะเสถียร ได้พยายามนำเสนอข้อมูลต่อยูเนสโก เพื่อพิจารณาให้ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร และห้วยขาแข้งเป็นมรดกโลก อันจะเป็นเกราะป้องกันผืนป่าแห่งนี้ไว้ให้ได้ เพราะจะทำให้คนหันมาหวงแหนผืนป่านี้มากขึ้น

         แม้ว่า สืบ นาคะเสถียร จะตั้งเจตนารมณ์ที่จะรักษาผืนป่าห้วยขาแข้งไว้ ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำงาน แต่กระนั้นสืบก็ยังไม่สามารถปกป้องป่าได้ เนื่องจากการดูแลผืนป่าขนาดมากกว่าหนึ่งล้านไร่ ด้วยงบประมาณ และกำลังคนที่จำกัด รวมถึงการทุจริตของเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ อีกทั้งปัญหาความยากจนของชาวบ้านที่อยู่อาศัยโดยรอบเขตรักษาพันธุ์ สัตว์ป่า ทำให้กลุ่มผู้มีอิทธิพลที่หวังผลประโยชน์ ว่าจ้างชาวบ้านในเขตป่าสงวนเข้ามาตัดไม้ และลักลอบ

         ล่าสัตว์ในเขตป่าอนุรักษ์ ในความคิดของ สืบ นาคะเสถียร แนวทางหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาการทำลายป่าได้ คือการสร้างแนวป่ากันชนขึ้นมา ให้ชาวบ้านอพยพออกนอกแนวกันชน และพัฒนาแนวกันชนให้เป็นป่าชุมชนที่ชาวบ้านสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ แต่ปรากฏว่า ไม่ได้รับความสนใจ และความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด 

          จนกระทั่งเช้ามืดของวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2533 สืบ นาคะเสถียร ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองลงด้วยปืนหนึ่งนัดในป่าลึก ที่ห้วยขาแข้ง การเสียชีวิตของ สืบ นาคะเสถียร เป็นจุดเริ่มต้นของ “ตำนานนักอนุรักษ์ไทย สืบ นาคะเสถียร ผู้ที่รักป่าไม้ สัตว์ป่าและธรรมชาติ ด้วยกายและใจ” 

          หลังจากการเสียชีวิตของสืบ บรรดาเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกรมป่า และผู้เกี่ยวข้องได้เปิดประชุมเพื่อหามาตรการป้องกันการบุกรุกป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง โดย สืบ นาคะเสถียร ได้พยายามจัดตั้งการประชุมหลายสิบครั้ง แต่ไม่มีการตอบรับจากเจ้าหน้าที่สักครั้งจนกระทั่งการเสียชีวิตของสืบ ทำให้มีข้อกล่าวว่า หากไม่มีเสียงปืนนัดนั้น การประชุมดังกล่าวก็คงไม่เกิดขึ้นเช่นกัน 

          ความพยายามของสืบก็เป็นผลสำเร็จเมื่อปี พ.ศ. 2534 เมื่อองค์การยูเนสโกประกาศให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง เป็นแหล่งมรดกโลกในที่สุด 

          จากการอุทิศตนของ สืบ นาคะเสถียร นั้น เป็นการปลุกคนให้ตื่นตัว และลุกขึ้นมาสนใจผืนป่าอย่างจริงจัง ในวันที่ 1 กันยายนของทุกปี จึงเป็นวันระลึกถึงความเสียสละของท่าน เพื่อให้ทุกคนจดจำ หวงแหนธรรมชาติ และสานต่อเจตนารมณ์ของ สืบ นาคะเสถียร

อ.สาริต พรหมนรา 

สำนักข่าววิหคนิวส์ รายงาน