แรงงานร้องปรับค่าจ้างขั้นต่ำปี 61 เป็น 700 บาท ลั่น 300 บาทอยู่ไม่ได้
Mgr online – เครือข่ายแรงงานร้องขึ้นค่าจ้าขั้นต่ำปี 61 ต้องเป็นธรรม ลั่นควรอยู่ที่วันละ 600-700 บาท ชี้วันละ 300 บาทอยู่ไม่ได้จากค่าครองชีพ ร่อนแบบสอบถามถึงแรงงานทุกจังหวัด หวังคำนวณค่าแรงขั้นต่ำ จี้เลิกอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต้ำระดับจังหวัด บอกไม่มีประโยชน์ ห่วงรัฐบาลอุ้มแต่นายจ้าง นักลงทุน
วันนี้ (8 ก.ย.) ที่พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ร่วมกับสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) แถลงข่าว “ขอให้มีการปรับค่าจ้างในปี 2561” ว่า หลังจากทางเครือข่ายแรงงานเรียกร้องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำต่อรัฐบาลมาตลอด แต่ดูเหมือนจะไม่เป็นผล ซึ่งจากการหารือได้ข้อสรุปว่า รัฐบาลต้องปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอย่างเป็นธรรมและต้องปรับในปี 2561 เนื่องจากที่ผ่านมาแรงงานอยู่ไม่ได้ด้วยค่าครองชีพตกวันละ 300 บาท แม้จะมีเพิ่มก็เพิ่มไม่เท่ากันทั่วประเทศ เฉลี่ยบางจังหวัดได้ประมาณ 310 บาทต่อวัน ซึ่งไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพของแรงงานเลย
“ที่ผ่านมาเคยเสนอว่าอย่างต่ำต้อง 360 บาทต่อวันเท่ากันทุกจังหวัด ซึ่งจริงๆ ก็ยังไม่เพียงพอ เพราะยังไม่ได้รวมค่าเช่าบ้าน ค่าเดินทางของแต่ละคน และค่าเลี้ยงดูครอบครัว รวมแล้ว 3 คน ซึ่งจากการสำรวจตัวเลขอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเมื่อปี 2554 อยู่ที่ ประมาณ 560 บาทต่อวัน ซึ่งอัตราเงินเฟ้อ 3% ต่อปี หากคิดถึงปัจจุบันก็ควรได้รับค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ประมาณวันละ 600-700 บาท แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้ว่าตัวเลขต้องตายตัว อยากให้มีการหารือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจริงๆ รวมทั้งขณะนี้ได้มีการทำแบบสอบถามลูกจ้างผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ 77 จังหวัด ถึงค่าครองชีพ ค่าใช้จ่ายต่างๆ เพื่อนำมาคำนวณว่า สุดท้ายแล้วต้องได้ค่าแรงขั้นต่ำเท่าไร คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณ ต.ค. ซึ่งหลังจากได้ข้อสรุปจะมีการประกาศอีกครั้ง” นายสาวิทย์ กล่าว
นายสาวิทย์ กล่าวว่า ปัญหาค่าจ้างเห็นชัดว่าไม่เพียงพอ เพราะเร็วๆนี้ทางพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เคยพูดว่าเงินเพียง 1 แสนบาทต่อปี ไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพ ถ้าจะพอก็ต้องประมาณ 3 แสนบาท ซึ่งตกเดือนละประมาณ 25,000 บาท ซึ่งทางแรงงานก็ไม่ได้ต้องการว่าต้องถึงขนาดนี้ แต่ก็ต้องเหมาะสมกับค่าครองชีพด้วย ดังนั้น ในปี 2561 ต้องมีการปรับค่าจ้างให้เหมาะสมกับค่าครองชีพ และต้องเท่ากันทุกจังหวัด ที่สำคัญควรยกเลิกอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำระดับจังหวัด เพราะไม่มีประโยชน์ เนื่องจากหลายแห่งไม่มีแรงงานเข้าร่วมเลย ส่วนใหญ่เป็นแต่นายจ้าง ควรมีเฉพาะคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำระดับชาติก็พอ
ด้าน นายชาลี ลอยสูง รองประธาน คสรท. กล่าวว่า แรงงานยังมีความกังวล เนื่องจากดูเหมือนรัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญนายจ้าง นักลงทุนเยอะพอสมควร เพราะล่าสุดมีข่าวว่ามีนักลงทุนเข้ามาลงทุนในไทยกว่า 500 ราย มีการให้ส่วนลด ของแถมดึงดูดนักลงทุนจำนวนมาก ถามว่าแล้วแรงงานลูกจ้างได้ประโยชน์อะไรบ้าง ยิ่งขณะนี้เป็นยุคไทยแลนด์ 4.0 เทคโนโลยีเข้ามามากมาย แล้วลูกจ้างที่ได้ค่าแรงน้อยอยู่แล้วก็มีความเสี่ยงอีก จะมีการรับประกัน หรือการช่วยเหลืออะไรจากภาครัฐบ้าง
สำนักข่าววิหคนิวส์