นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 1 ได้เดินทางเข้าร่วมการสัมมนาสันนิบาตเทศบาลภาคเหนือ โดยได้กล่าวบรรยายพิเศษตอนหนึ่งถึงร่างพระราชบัญญัติ (พ.รบ.) ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม
ที่ผ่านความเห็นชอบในวาระที่ 1 ของ สนช. ไปแล้วว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ถูกเสนอโดยสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้กับข้าราชการทุกระดับ เจ้าหน้าที่รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และยังครอบคลุมไปถึงญาติ 4 ลำดับ คือ บุพการี ผู้สืบสันดาน คู่สมรส และพี่น้องร่วมบิดามารดา หรือเรียกว่ากฎหมาย 4 ชั่วโคตร แต่ในความจริงไม่ได้มีเพียงแค่ 4 ชั่วโคตรอย่างที่ทุกคนเข้าใจ แต่กฎหมายครอบคลุมไปถึง 7 ชั่วโคตร เพราะการใช้คำว่า “บุพการี” ไม่ได้หมายความเฉพาะบิดา มารดา เท่านั้น ยังรวมไปถึงปู่ ย่า ตา ยาย และทวด นอกจากนี้การใช้คำว่า “ผู้สืบสันดาน” ก็ไม่ได้ครอบคลุมแค่บุตรเท่านั้น แต่ยังรวมถึงหลาน เหลน และโหลนด้วย
นายสุรชัย ย้ำว่า กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของ อปท. ซึ่งการที่ผู้บริหารอปท.บางส่วน จะทำธุรกิจไปพร้อมๆกับการทำงานให้กับประชาชน ซึ่งเสี่ยงต่อข้อครหามีผลประโยชน์ทับซ้อน จึงต้องกำหนดให้ชัดเพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดความเคลือบแคลงสงสัย แต่การเขียนกฎหมายบังคับควบคุมไปถึงวงศ์ตระกูล จะเกินเลยไปหรือไม่ ต้องคิดให้ละเอียด หากเขียนควบคุมถึง 7 ชั่วโคตร ก็เกรงจะไม่มีใครกล้ามาเป็นญาติกับนักการเมืองและข้าราชการ หรือแม้กระทั่งลูกหลานก็จะไม่มีใครกล้าแต่งงานด้วย ดังนั้นเนื้อหากฎหมายฉบับนี้จะต้องเขียนให้ชัด เช่น การนำรถเทศบาลไปช่วยเหลือชาวบ้านขนของ จะถูกตีความว่าเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ผู้อื่นก็ได้
นายสุรชัย กล่าวอีกว่า การปราบปรามทุจริตเป็นเรื่องที่จำเป็นแต่ไม่อยากให้ออกกฎหมายภายใต้สมมุติฐานของการควบคุมถึงวงศ์ตระกูลของนักการเมืองและข้าราชการ มิฉะนั้นคนดีไม่อยากเล่นการเมืองหรือเป็นข้าราชการเพราะจะทำให้ญาติพี่น้องเดือดร้อนวุ่นวาย จึงอยากตั้งคำถามว่าที่ผ่านมาเราใช้กฎหมายยาแรงมาตลอด แล้วลดปัญหาทุจริตได้จริงหรือไม่อย่างไรก็ตามในระหว่างที่ สนช.ยังพิจารณากฎหมายนี้อยู่ใครที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย สามารถส่งความเห็นมาได้ตลอด
ที่มา แนวหน้า
สำนักข่าววิหคนิวส์