เอเอฟพี – กลุ่มฮิวแมนไรท์วอทช์ ในวันอังคาร(26ก.ย.) ส่งเสียงโวยวายประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ เพิกเฉยต่อประเด็นสิทธิมนุษยชน
หลังมีกำหนดเปิดทำเนียบขาวต้อนรับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหาร ความเคลื่อนไหวซึ่งมอบชัยชนะส่วนตัวแด่เผด็จการของไทย ที่เคยถูกหมางเมินในสมัยบารัค โอบามา จากประวัติละเมิดสิทธิมนุยชนของรัฐบาลทหาร
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่าความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ชาติพันธมิตรเก่าแก่ ตกอยู่ในความมึนตึง หลังพลเอกประยุทธ์ นำกองทัพก่อรัฐประหารในปี 2014 อย่างไรก็ตามรัฐบาลของทรัมป์ เริ่มยกเครื่องความสัมพันธ์ใหม่กับรัฐบาลทหารของไทย ส่งเจ้าหน้าที่ทูตระดับสูง ในนั้นรวมถึงรัฐมนตรีต่างประเทศเดินทางเยือนกรุงเทพฯ ผิดกับรัฐมนตรีต่างประเทศในสมัยของโอบามา ที่หลีกเลี่ยงเดินทางมาไทย
ทำเนียบขาวระบุในถ้อยแถลงเมื่อช่วงค่ำวันจันทร์(25ก.ย.) ว่า “ประธานาธิบดีทรัมป์ มองไปข้างหน้า เพื่อย้ำความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯและไทย คู่หูสำคัญและพันธมิตรเก่าแก่ในเอเชีย”
เอเอฟพีรายงานโดยอ้างพลเอกประยุทธ์ให้สัมภาษณ์กับพวกผู้สื่อข่าวในกรุงเทพฯในวันอังคาร(26ก.ย.) ว่าผู้นำทั้งสองจะหารือด้านความมั่นคง การค้าและการลงทุน รวมถึงปัญหาต่างๆในภูมิภาค พร้อมคาดหมายว่าการพูดคุยจะเป็นไปอย่างเป็นมิตรและอบอุ่น
อย่างไรก็ตามกลุ่มสิทธิมนุษยชนฮิวแมนไรท์วอทช์ โวยวายการเดินทางเยือนทำเนียบขาวในวันที่ 3 ตุลาคม ซึ่งเป็นไปตามคำเชิญของทรัมป์ ระหว่างการพูดคุยทางโทรศัพท์เมื่อเดือนเมษายน โดยบอกว่ามันเป็นสัญญาณบ่งชี้ล่าสุดว่าประธานาธิบดีอเมริกา โยนความคิดพิจารณาในประเด็นสิทธิมนุษยชนออกนอกหน้าต่างอย่างน่าละอาย
“ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ทรัมป์ไม่ได้ตระหนักเลยว่าชัยชนะในโฆษณาชวนเชื่อนี้ของประยุทธ์และคณะรัฐประหาร จะมีประชาชนคนไทยเป็นผู้ชดใช้ ซึ่งต้องจ่ายมันด้วยรูปแบบของการถูกปราบปรามอย่างหนักหน่วงและละเมิดสิทธิมนุษยชน ยามที่นายพลกลับบ้าน” แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียของฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุ
รายงานของเอเอฟพีระบุว่ากองทัพไทยระงับประชาธิปไตยมานานกว่า 3 ปี กำหนดให้การประท้วงบนท้องถนนเป็นสิ่งผิดกฎหมาย จำคุกฝ่ายต่อต้านและดำเนินคดีอย่างหนักหน่วงภายใต้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
สหรัฐฯตอบโต้รัฐประหารด้วยการตัดงบช่วยเหลือด้านการทหารและปลีกตัวเองออกจากรัฐบาลไทย อย่างไรก็ตามความสัมพันธ์กำลังอยู่บนหนทางที่ดีขึ้นภายใต้รัฐบาลทรัมป์ โดยเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รัฐมนตรีต่างประเทศ กลายเป็นเจ้าหน้าที่สหรัฐฯระดับสูงสุด ที่เดินทางเยือนกรุงเทพฯ นับตั้งแต่เหตุยึดอำนาจในปี 2014 และเขาได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากประยุทธ์
ความสัมพันธ์ที่เริ่มดีขึ้นมีขึ่้นท่ามกลางความกังวลของวอชิงตันต่อมหาอำนาจคู่อริอย่างจีน ที่แผ่ขยายอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆในภูมิภาค
ปักกิ่ง เกี้ยวพาราสีเหล่าชาติเล็กๆเพื่อนบ้านด้วยแพ็กเกจการลงทุนมหึมาที่ปราศจากแรงกดดันด้านสิทธิมนุษยชนและหลักการประชาธิปไตย และด้วยถูกสหรัฐฯเมินเฉยหลังรัฐประหาร พวกนายพลของไทยจึงหันไปสานสัมพันธ์กับจีน อ้าแขนรับการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและข้อตกลงซื้อขายอาวุธ
ในวันอังคาร(26ก.ย.) พลเอกประยุทธ์ พยายามปัดเป่าข้อสงสัยที่ว่าการพบปะกับทรัมป์ อาจเป็นการปรับเปลี่ยนพันธมิตร “กรุณาอย่าพิจารณาเรื่องนี้ว่าผมเลือกข้าง เราร่วมมือกับทุกมหาอำนาจ ทั้งประเทศใหญ่และประเทศเล็ก”
สำนักข่าววิหคนิวส์