ชุย เอ ซิ นางงามเมียนมาปีล่าสุด อ้าง ถูกปลดจากตำแหน่งเพราะโพสต์วิดีโอวิจารณ์กองทัพปลดปล่อยโรฮิงญาแห่งอาระกัน หรืออาร์ซา
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ชุย เอ ซิ นางงามเวทีมิสแกรนด์เมียนมาปี 2017 วัย 19 ปี โพสต์วิดีโอความรุนแรงในรัฐยะไข่ซึ่งเป็นภาพที่อาจทำให้รู้สึกไม่สบายใจ พร้อมวิพากษ์วิจารณ์กองทัพปลดปล่อยโรฮิงญาแห่งอาระกัน หรืออาร์ซา ว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้ความขัดแย้งยังดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ และเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (1 ต.ค.) คณะผู้จัดการประกวดได้ออกมาประกาศถอดถอนตำแหน่งของเธอ โดยให้เหตุผลว่า เธอไม่ปฏิบัติตามสัญญา และไม่ปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างที่ดี แต่ไม่ได้อ้างถึงเรื่องวิดีโอดังกล่าวแต่อย่างใด
ล่าสุด ในวันนี้ (3 ต.ค.) ชุย เอ ซิ โพสต์แถลงการณ์ผ่านหน้าเฟซบุ๊กของเธอ ชี้ให้เห็นว่าการถูกปลดจากตำแหน่งของเธอเกี่ยวข้องกับการออกมาวิพากษ์วิจารณ์สถานการณ์ความรุนแรงในเมียนมา โดยระบุว่า “ถือเป็นเรื่องจำเป็นในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่จะใช้ชื่อเสียงเธอในการพูดความจริงเพื่อประเทศ” และบอกว่าการโจมตีในลักษณะคล้ายกลุ่มรัฐอิสลามของกลุ่มอาร์ซาทำไปอย่างเกินควร
“ใช่ ชุย เอ ซิ ทำวิดีโอที่เกี่ยวกับห้วงเวลาแห่งความหวาดกลัวที่กลุ่มติดอาวุธอาร์ซาทำให้เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ขึ้นมาจริง แต่นั่นแทบจะไม่นับว่าเป็นความล้มเหลวในการรักษาภาพลักษณ์ของนางงาม” แถลงการณ์ของเธอระบุ ในวิดีโอนี้ ชุย เอ ซิ วิจารณ์กลุ่มติดอาวุธและผู้สนับสนุนว่าสร้างการรณรงค์ทางสื่อซึ่งทำให้ “ผู้นำมาซึ่งความหวาดกลัวและความรุนแรงกลายเป็นเหมือนผู้ถูกกดขี่ซะเองในตอนนี้”
อย่างไรก็ตาม ชุย เอ ซิ ไม่ได้พูดถึงการกระทำอันรุนแรงของกองทัพเมียนมาต่อชาวมุสลิมโรฮิงญาซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในรัฐยะไข่แต่อย่างใด
นี่เป็นกรณีล่าสุดที่ผู้ชนะการประกวดเวทีนางงามถูกปลดออกจากตำแหน่งเนื่องจากแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เมื่อเดือนกันยายน อิตีร์ อีเซน นางงามเวทีมิสตุรกี ปี 2017 ถูกถอดถอนจากตำแหน่งหลังจากเธอเขียนลงในทวีตเตอร์ในช่วงครบรอบ 1 ปีของการพยายามก่อรัฐประหารในตุรกีเมื่อปี 2016 ว่า การมีประจำเดือนของเธอเป็นการเฉลิมฉลองเลือดของผู้สละชีวิตในการต่อต้านกองทัพที่พยายามเข้ายึดอำนาจ
ย้อนไปในปี 2015 อนาสตาเซีย หลิน นางงามแคนาดาเชื้อสายจีนซึ่งเป็นตัวแทนแข่งเวทีมิสเวิลด์ พลาดการเข้าแข่งขันเนื่องจากไม่ได้รับจดหมายเชิญจากประเทศจีนซึ่งเป็นเจ้าภาพการจัดงาน ทำให้เธอไม่สามารถขอวีซ่าได้ โดยเธอบอกว่าเป็นเพราะเธอวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจีน
ที่มา bbc
สำนักข่าววิหคนิวส์