ข่าวประจำวัน » ข่าวเด่น » #ร่าง พรบ. คุ้มครองพันธ์พืชฉบับใหม่!! กรมมวิชาการเกษตรคุ้มครองเกษตรกร หรือ บริษัทเมล็ดพันธุ์#

#ร่าง พรบ. คุ้มครองพันธ์พืชฉบับใหม่!! กรมมวิชาการเกษตรคุ้มครองเกษตรกร หรือ บริษัทเมล็ดพันธุ์#

7 October 2017
1404   0

การเก็บรักษาพันธุ์พืชไปปลูกต่อเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของเกษตรกร โดยแม้แต่อนุสัญญาUPOV1978 ซึ่งให้สิทธิแก่นักปรับปรุงพันธุ์และบริษัทเมล็ดพันธุ์ก็กำหนดสิทธิในการเก็บรักษาพันธุ์ไปปลูกต่อรวมอยู่ด้วย

ในขณะที่อนุสัญญาUPOV1991 ที่ผลักดันโดยสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรปและบริษัทเมล็ดพันธุ์ยักษ์ใหญ่กลับลดทอนสิทธิขั้นพื้นฐานดังกล่าวลง
ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชฉบับใหม่ ที่จะยกเลิกพ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 ตัดมาตรา 33 ในพ.ร.บ.ฉบับเดิมออก แล้วร่างขึ้นด้วยข้อความใหม่ โดยในมาตรา 35 ของร่างพ.ร.บ.ใหม่นั้นซ่อนการลดทอนสิทธิของเกษตรกรไว้อย่างแนบเนียน
โดยถึงแม้จะเขียนไว้ตอนต้นว่า “เพื่อประโยชน์ในการเพาะปลูกหรือขยายพันธุ์สำหรับพันธุ์พืชใหม่ที่ได้รับความคุ้มครองเกษตรกรมีสิทธิในการใช้ส่วนขยายพันธุ์ที่ตนเองเป็นผู้ผลิตในพื้นที่ของตนเอง” แต่กลับเพิ่มเงื่อนไขสำคัญเอาไว้ว่า
“เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการปรับปรุงพันธุ์รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืชมีอำนาจออกประกาศกำหนดพันธุ์พืชใหม่ชนิดใดเป็นพันธุ์พืชที่สามารถจำกัดปริมาณการเพาะปลูกหรือการขยายพันธุ์ทั้งหมดหรือบางส่วนของเกษตรกรได้”

นี่คือกุญแจสำคัญของการลดทอนสิทธิของเกษตรกร ดังนั้นหากกรมวิชาการเกษตรประสงค์จะรักษาสิทธิเกษตรกรในการเก็บรักษาพันธุ์พืชไปปลูกต่อ ทำไมต้องเขียนข้อความดังกล่าวไว้ในกฎหมาย ?
กรมวิชาการเกษตรควรเรียนรู้จากอินเดีย ซึ่งถึงแม้บริษัทอินเดียจะมีบริษัทยักษ์ใหญ่เมล็ดพันธุ์ระดับโลก แต่รัฐบาลอินเดียกลับกำหนดสิทธิเกษตรกรไว้อย่างชัดเจนในกฎหมาย THE PROTECTION OF PLANT VARIETIES AND FARMERS’ RIGHTS ACT, 2001 โดยใน CHAPTER VI

FARMERS’ RIGHTS มาตรา 39 ในข้อ (iv) ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า a farmer shall be deemed to be entitled to save, use, sow resow, exchange, share or sell his farm produce including seed of a variety protected under this Act in the same manner as he was entitled before the coming into force of this Act เพราะนี่คือหลักประกันของความมั่นคงทางอาหารของอินเดีย

ความไม่ชอบมาพากลของร่างกฎหมายนี้ซึ่งมุ่งลดทอนสิทธิเกษตรกร คือที่มาของคณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืช ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญว่าจะกำหนดให้เกษตรกรสามารถเก็บรักษาพันธุ์พืชใดเพื่อปลูกต่อได้หรือไม่นั้น การได้มาของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 12 คน โดยจะต้องมีเกษตรกรอย่างน้อย 6 คนนั้น กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 ฉบับปัจจุบันที่บังคับใช้อยู่กำหนดให้มาจากการเสนอชื่อจากการคัดเลือกกันเอง แต่ร่างกฎหมายใหม่กลับให้ตัวแทนของเกษตรกรและผู้ทรงคุณวุฒิอื่นมาจากการแต่งตั้งทั้งหมด !?
นี่คือจุดเริ่มต้นของการลดทอนสิทธิของเกษตรกรในการเก็บรักษา และแลกเปลี่ยนพันธุ์พืชซึ่งเป็นฐานรากของความมั่นคงทางอาหาร
ร่างกฎหมายนี้ของกรมวิชาการเกษตรยังซ่อนการเปิดทางสะดวกให้กับ “โจรสลัดชีวภาพ” ไว้อย่างชัดเจนด้วย ซึ่งเราจะชำแหละให้เห็นเป็นลำดับต่อไป

ที่มา :BIOTHAI
ศุภกิจ โพธืผล

สำนักข่าววิหคนิวส์