นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตร และสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ในเดือนพฤศจิกายน 2560 ธนาคารเตรียมเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) ธ.ก.ส. เพื่อขอความเห็นชอบการขยายวงเงินโครงการสินเชื่อฉุกเฉินเพื่อแก้หนี้นอกระบบอีก 5,000 ล้านบาท ก่อนเสนอ คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติต่อไป เพราะต้องมีกรณีขอชดเชยหากผู้กู้ไม่ชำระหนี้จนเกิดหนี้เสีย
แนวหน้า – ทั้งนี้ เนื่องจากวงเงินเดิมของสินเชื่อฉุกเฉิน 5,000 ล้านบาท ใกล้ครบวงเงินแล้ว ซึ่งปล่อยกู้ไปแล้ว 4,658 ล้านบาท คิดดอกเบี้ย 0.5-0.85% ปล่อยกู้รายละไม่เกิน 5 หมื่นบาท โดยการขยายวงเงินออกไปก็เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยมีแหล่งเงินที่นำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวันที่จำเป็น ไม่ไปกู้หนี้นอกระบบอีก โดยส่วนใหญ่ผู้ที่มีรายได้น้อยต้องการขอกู้เงินในช่วงใกล้เปิดเทอมของนักเรียนเพื่อนำเงินไปหมุนเวียนซื้อเสื้อผ้าและอุปกรณ์การเรียนของบุตรหลาน
นอกจากนี้ธนาคารได้ดึงลูกหนี้ที่เป็นหนี้นอกระบบเข้ามาร่วมโครงการแก้หนี้นอกระบบ และผ่านการฝึกอบรมกับศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง 9.92 หมื่นราย จากลูกหนี้ ธ.ก.ส.ที่เป็นหนี้นอกระบบ 6 แสนราย ซึ่งเป็นข้อมูลจากการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยที่เป็นลูกค้าธ.ก.ส.ทั้งสิ้น 6 ล้านราย
ส่วนลูกหนี้ที่มีหนี้นอกระบบอีก 5 แสนราย จะต้องมีการเจรจาประนอมหนี้ หากทำสำเร็จก็สามารถเข้าฟื้นฟูอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้ต่อไปได้ โดยจะมีแหล่งเงินทุนให้กับผู้ที่ไม่มีหนี้และมีรายได้น้อยผ่านสินเชื่อเพื่อส่งเสริมอาชีพวงเงิน 5,000 ล้านบาท รายละไม่เกิน 5 หมื่นบาท ดอกเบี้ย 7% ซึ่งปัจจุบันสามารถปล่อยไปได้เพียง 16 ล้านบาเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม จากการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยเพื่อรับสวัสดิการแห่งรัฐของ ธ.ก.ส.มีทั้งสิ้น 6 ล้านราย ธนาคารได้ส่งมอบบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแล้ว 5.08 ล้านราย เหลืออีกประมาณ 1 ล้านราย จะเร่งทยอยแจกให้ได้ครบเร็วที่สุด
นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผย ผลสำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทย ปี 2560 ว่า ครัวเรือนปัจจุบันกว่าร้อยละ 91.1 ยังคงมีหนี้สินอยู่ มีเพียงร้อยละ 8.9 เท่านั้นที่ไม่มีหนี้สิน โดยครัวเรือนที่ยังมีหนี้ ส่วนใหญ่เป็นหนี้เพื่อการใช้จ่ายทั่วไป รองลงมาเป็นหนี้เพื่อซื้อทรัพย์สิน เช่น รถยนต์ และบ้าน รวมถึงชำระหนี้เก่า
โดยจำนวนหนี้สินต่อครัวเรือนรวมในปีนี้ เฉลี่ยอยู่ที่ 299,266 บาท ต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 จากปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 10 ปี โดยเป็นหนี้ในระบบ ร้อยละ 74.6 ขณะที่หนี้นอกระบบอยู่ที่ประมาณ ร้อยละ 26.4 ซึ่งสัดส่วนผู้ที่เป็นหนี้ในระบบเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา และทำให้ผู้ที่เป็นหนี้นอกระบบลดลงมากสุดในรอบ 10 ปี และคาดว่าในอีก 1 ปีข้างหน้าผู้เป็นหนี้นอกระบบจะลดลง จากมาตรการในการกำกับดูแลหนี้นอกระบบของภาครัฐ โดยประชาชนมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น โดยครัวเรือนมีความสามารถในการผ่อนชำระต่อเดือนอยู่ที่ 15,438.92 บาท
ส่วนการจับจ่ายใช้สอยในปีนี้ ครัวเรือนส่วนใหญ่ตอบว่าใช้จ่ายน้อยลง ทั้งปริมาณและมูลค่า เนื่องจากเห็นว่าค่าครองชีพในปัจจุบันสูงกว่ารายได้ จึงต้องการประหยัด ซื้อเฉพาะของจำเป็น นอกจากนี้บางส่วนใช้จ่ายตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง บางส่วนมีภาระหนี้มากขึ้น มีรายได้น้อยลงและข้าวของราคาแพงขึ้น ขณะที่โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐนั้น ผู้ที่ถือบัตรเห็นว่า สามารถช่วยแก้ปัญหาความยากจน เพิ่มสภาพคล่องในครอบครัว ทำให้เศรษฐกิจเกิดความคึกคัก และมีความพึงพอใจกับนโยบายดังกล่าว
สำนักข่าววิหคนิวส์