ข่าวประจำวัน » #รสนาจี้สอบ !! 3ปลัดอุ้มบ.รับสัมปทานน้ำมันแหล่งJDAสำแดงเอกสารเท็จเลี่ยงภาษี

#รสนาจี้สอบ !! 3ปลัดอุ้มบ.รับสัมปทานน้ำมันแหล่งJDAสำแดงเอกสารเท็จเลี่ยงภาษี

15 October 2017
825   0


รสนา โตสิตระกูล ได้โพสข้อความผ่านเฟสบุ๊กระบุว่า “ขอให้นายกฯ จัดการกรณีการหลีกเลี่ยงภาษีส่งออกปิโตรเลียมเหลว(คอนเดนเสท)จากแหล่งJDA ของบริษัทเอกชนให้ถูกต้อง”
ในช่วง2อาทิตย์ที่ผ่านมา มีข่าวดังในสื่อออนไลน์เกี่ยวกับเอกสารหลุดลอดออกมา เรื่องที่ 3ปลัดกระทรวงลงมติเบรกDSI ดำเนินคดีกับบริษัทต่างชาติที่หลีกเลี่ยงภาษี กรณีซื้อคอนเดนเสทจากแหล่งพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA) โดยสำแดงเอกสารส่งออกอันเป็นเท็จ หลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีขาออก มีการอ้างว่าหากดำเนินคดีกับบริษัทเอกชนที่เลี่ยงภาษีจะเกิดปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศถึงกับมีข่าวว่าจะขอให้นายกรัฐมนตรี พล.อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้มาตรา44 มาแทรกแซงคดีนี้อีกด้วย
จากข้อมูลของสำนักข่าวไทยพับลิก้าได้รายงานว่า
 “ที่ผ่านมาการซื้อ-ขายคอนเดนเสทจากพื้นที่ JDA ส่วนใหญ่ไม่มีปัญหา หากเป็นการซื้อ-ขายกันโดยตรง ระหว่างบริษัทผู้รับสัมปทานขายให้บริษัทที่ประกอบกิจการในประเทศไทยหรือมาเลเซีย แต่ก็มีหลายกรณีที่ด่านศุลกากรสงขลา ตรวจพบ บริษัทผู้รับสัมปทานนำคอนเดนเสทไปขายผ่านคนกลาง ซึ่งเป็นบริษัทที่ประกอบกิจการอยู่ในประเทศที่ 3 ก่อนนำคอนเดนเสทมาขายให้กับบริษัทในเครือ ปตท. เรื่องนี้จึงกลายเป็นประเด็นขึ้นมา

ยกตัวอย่าง กรณีบริษัท CARIGALI HESS OPERATION COMPANY SDN BHD นำส่วนแบ่งคอนเดนเสทที่ผลิตได้ จากแหล่งจักรวาล (Cakerawala) ไปมอบให้บริษัท HESS นำไปขายให้กับบริษัท ปตท. อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด (มหาชน) (PTTAR) โดยมีใบรับรองจากองค์ร่วมไทย-มาเลเซีย (MTJA) แนบมากับใบขนสินค้า แจ้งต่อด่านศุลกากรสงขลาว่าจะนำคอนเดนเสท

ล็อตนี้ไปขายให้กับ ปตท. อะโรเมติกส์ฯ เจ้าหน้าที่ด่านศุลกากรสงขลาจึงทำการตรวจปล่อยสินค้า โดยไม่ได้เก็บอากรขาออก เพราะเป็นการขายให้กับบริษัทไทย”
ต่อมามีการร้องเรียนกล่าวโทษเรื่องนี้ต่อDSI เรื่องการหลีกเลี่ยงภาษีของ บริษัทCPOC(ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างปตท.สผ.และคาริการี่ของมาเลเซีย) และบริษัทCHESS (ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างคาริการี่กับบริษัทเฮสส์ของสหรัฐ)
หลังจากมีการสอบสวนแล้ว DSI ร่วมกับพนักงานอัยการได้มีมติว่า2บริษัทมีความผิดฐานหลีกเลี่ยงภาษีอากรตามมาตรา 99 และ มาตรา 27 พ.ร.บ ศุลกากร 2469 จึงได้แจ้งให้บริษัท CPOC และ บริษัท CHESSมารับทราบข้อกล่าวหา ซึ่งบริษัท CPOCได้มารับทราบข้อกล่าวหาไปแล้วตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2560 ส่วนบริษัท CHESS ขอเลื่อนมารับทราบข้อกล่าวหาในเดือนกรกฎาคม 2560 แต่ก็ไม่มา 
ต่อมาปรากฎเอกสารการประชุมเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2560 หลุดลอดมาสู่สื่อมวลชนเรื่องที่กระทรวงพลังงานโดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้นัดหมายปลัดจาก 3 กระทรวงประกอบด้วยกระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง และกระทรวงยุติธรรม มาประชุมเพื่อหาทางออกให้2บริษัทดังกล่าว โดยเข้ามาแทรกแซงการทำงานของ DSI ด้วยการขอให้ชะลอการสอบปากคำคดีความดังกล่าวออกไปก่อน และเสนอให้กรมศุลกากรพิจารณาการเสียภาษีขาออกโดยพิจารณาจากการขนส่งไปยังประเทศปลายทางเป็นหลัก( Physical movement) อ้างว่าหากมีการดำเนินคดีกับบริษัทเอกชนดังกล่าวจะกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ !!!!
ทั้งที่ตามข้อตกลงไทย-มาเลเซีย มีการกำหนดชัดเจนว่า การขายน้ำมันส่วนที่เป็นกำไรจากแหล่งJDA ไปยังไทย และมาเลเซียนั้นไม่มีภาษี แต่ถ้ามีการขายนอกราชอาณาจักรไทยและมาเลเซีย ต้องเก็บภาษีตามกฎหมายของแต่ละประเทศ โดยลดลง50% ซึ่งประเทศไทยมีภาษีส่งออก10% จึงเก็บได้5%
กรณีการขายคอนเดนเสทที่มีปัญหานี้ ตามข้อเท็จจริงปรากฎหลักฐานการซื้อขายระหว่าง บริษัท HESS GLOBAL

TRADING LIMITED (ผู้ขาย) กับ KARNEL OIL PTE LIMITED SINGAPORE (ผู้ซื้อ) จึงถือว่าเป็นการขายไปนอกราชอาณาจักรไทย และมาเลเซียตามพ.ร.ก พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ 2530 ภาค3 ประเภท 8(ก) ผู้ขาย (HESS) จะต้องเสียอากร10%โดยลดอัตราเรียกเก็บลงเหลือ5%
หลักฐานการซื้อขายคอนเดนเสทระหว่างผู้ซื้อคือ KARNEL OIL สิงคโปร์ และผู้ขาย คือ HESS ดูเอกสารที่ 1,2,3ที่ทำไฮไลท์ สีชมพู 
ใบที่1 (สีชมพู)คือใบส่งของ (invoice)ระบุชื่อว่า TO THE ORDER OF BNP PARIBAS, SINGAPORE
ใบที่2 (สีชมพู) เป็นเอกสารประกอบใบขนสินค้าที่มีการลงชื่อร่วมกันของพนักงานบริษัทฯและเจ้าหน้าที่องค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย ของผู้ขายคือ HESS ที่ระบุว่า SALE TO : PTT AROMATICS AND REFINING ทั้งที่ในความเป็นจริง สัญญาซื้อขาย ใบส่งสินค้า และTelex ระบุขายให้ Karnel Oil ของสิงคโปร์ แต่กลับพิมพ์ข้อความว่าขายให้ปตท.อโรมาติกส์และการกลั่น เจ้าหน้าที่ด่านศุลกากรสงขลาจึงทำการตรวจปล่อยสินค้า โดยไม่ได้เก็บอากรขาออก เพราะเห็นว่าเป็นการขายให้กับบริษัทไทย
จึงมีข้อสังเกตว่าที่พิมพ์ข้อความเช่นนี้เป็นการอำพรางต่อด่านศุลกากร ใช่หรือไม่ และเป็นการสำแดงเท็จด้วย ใช่หรือไม่
ใบที่3 (สีชมพู) เป็นหลักฐานการส่งออกคอนเดนเสทให้กับ KARNEL OIL ของสิงคโปร์ ตามหนังสือ CUSTOMER LIFTING TELEX ที่ผู้ขาย (HESS)จะออกให้เพื่อยืนยันการส่งมอบคอนเดนเสทที่เสร็จสมบูรณ์ รวมทั้งเวลาที่เรือออกจากท่า ส่งให้กับผู้ซื้อ(KARNEL OIL PTE LTD )ทันที แสดงว่าคอนเดนเสทดังกล่าวได้มีการส่งออกสำเร็จแล้วตามมาตรา 46 ของ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ 2469 และความรับผิดที่จะต้องเสียภาษีของผู้ส่งของออก(HESS)จึงเกิดขึ้นตามกฎหมายมาตรา 10ตรี
ขอให้ผู้อ่านเปรียบเทียบเอกสารชุดที่ถูกต้องที่ทำไฮไลท์เป็น”สีเขียว” 3ใบประกอบด้วย1)ใบสั่งซื้อ 2) เอกสารประกอบใบขนสินค้าที่มีการลงชื่อร่วมกันของพนักงานบริษัทฯและเจ้าหน้าองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย ที่สำแดงต่อศุลกากร และ 3) CUSTOMER LIFTING TELEX ที่ผู้ขาย (HESS)จะออกให้ผู้ซื้อเพื่อยืนยันการส่งมอบคอนเดนเสทที่เสร็จสมบูรณ์
เอกสารสีชมพูเป็นการสำแดงเท็จเพราะไม่ได้ขายให้ปตท..แต่ขายให้ Karnel oil.ตามสัญญาซื้อขาย ใบส่งสินค้า และTelex.
ส่วนเอกสารสีเขียวเป็นการขายให้ปตท.จริงเอกสารทั้งสัญญาซื้อขาย ใบส่งของ และTelex..จะเป็นชื่อปตท.ทั้งหมด.
การที่ปลัดกระทรวง 3กระทรวง มีความเห็นในเอกสารการประชุมที่หลุดลอดออกมา ทำให้สังคมได้ล่วงรู้ข้อมูลที่มีการประชุมที่ระบุว่า “อธิบดีกรมศุลกากรได้ยืนยันโดยวาจาว่าจัดเก็บอากรขาออกฯให้พิจารณาจากการขนส่งไปยังประเทศปลายทางเป็นหลัก(Physical movement)” ทั้งที่ข้อพิจารณาดังกล่าวไม่มีข้อกฎหมายใดมารองรับ ใช่หรือไม่
ข้อกฎหมายเรื่องการจัดเก็บอากรขาออกที่ถูกต้องคือ คำสั่งกรมศุลกากรที่ 5/2548 ข้อ 4 02 04 04 เพื่อเป็นการกำหนดจุดที่ภาระภาษีเกิดขึ้นในพื้นที่พัฒนาร่วมฯ ตามมติของที่ประชุมคณะกรรมการศุลกากรไทย-มาเลเซีย “ได้กำหนดให้เรือกักเก็บน้ำมัน (Floating Storage and Offloading Vessel Area : FSOA) และ จุดตั้งมาตรวัดเพื่อวัดปริมาณการส่งออกน้ำมัน เป็นจุดที่ภาระภาษีเกิดขึ้นตามกฎหมาย(Tax Point)” 
หากเป็นไปตามข่าวที่ปรากฏว่า มีผู้บริหารระดับสูงถึง3กระทรวง ได้ออกหน้ามาแก้แทนบริษัทเอกชนโดยให้ข้อมูลที่ขัดแย้งกับบทบัญญัติของกฎหมายเรื่องจุดที่ภาระภาษีเกิด(Tax Point) และยังจะทำเรื่องให้นายกรัฐมนตรีใช้มาตรา44 ในทางที่ไม่ถูกต้อง ไม่ชอบด้วยตัวบทกฎหมายนั้น เป็นเรื่องที่น่าสงสัยเป็นอย่างยิ่งว่าข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เหล่านั้นได้ใช้อำนาจหน้าที่โดยสุจริตหรือไม่
สิ่งที่ต้องตั้งคำถามคือการนำเข้าคอนเดนเสทโดยตรงจากแหล่งเจดีเอโดยบริษัทในประเทศไทยสามารถทำได้อยู่แล้วโดยไม่มีภาระภาษี แต่เหตุใดจึงมีการทำให้ซับซ้อนโดยขายไปที่สิงคโปร์ทอดหนึ่งก่อนจะนำเข้ามายังประเทศไทย หรือว่าการนำเข้าโดยตรงจากแหล่งเจดีเอ ทำให้ไม่สามารถบวกต้นทุนโสหุ้ย และกำไรที่ผ่านคนกลางอีกทอดหนึ่ง ใช่หรือไม่
หากนายกรัฐมนตรีบ้าจี้ทำตามข้อเสนอแนะของข้าราชการระดับสูงเหล่านี้ ที่เสนอให้นายกฯใช้มาตรา44 เข้ามาแทรกแซงคดีความการหลีกเลี่ยงภาษีของบริษัทเอกชน ก็จะทำให้บริษัทเอกชนที่หลีกเลี่ยงภาษีไม่ต้องรับผิด ส่วนรัฐสูญเสียภาษีไปโดยไม่ถูกต้อง
แต่ประเด็นที่ใหญ่กว่านั้นคือ จะทำให้กรณีนี้กลายเป็นบรรทัดฐานให้เกิดการหลีกเลี่ยงภาษีส่งออกจากแหล่งJDA และรัฐบาลจะไม่ได้ภาษีจากการส่งออกน้ำมันของแหล่งJDAตลอดไป 
ที่สำคัญคือเปิดโอกาสให้เอกชนสามารถแสวงหาผลประโยชน์เพิ่มขึ้น โดยไม่ต้องเสียภาษี ด้วยการไม่นำเข้าน้ำมันโดยตรงจากแหล่งJDA แต่จะใช้วิธีซิกแซกโดยขายน้ำมันไปให้พ่อค้าคนกลางที่สิงคโปร์ทอดหนึ่งก่อน เพื่อบวกค่าใช้จ่ายและกำไร ก่อนส่งเข้ามาขายในประเทศไทย ซึ่งนอกจากจะเปิดช่องให้เอกชนหากำไรเข้ากระเป๋าใครก็ไม่รู้แล้ว แต่ที่แน่ๆคือคนไทยต้องจ่ายค่าน้ำมันแพงขึ้น โดยรัฐไม่ได้ภาษีด้วย ใช่หรือไม่
สิ่งที่นายกรัฐมนตรีควรดำเนินการ จึงไม่ใช่การใช้มาตรา44แทรกแซงการตรวจสอบของDSI หรือเปลี่ยนแปลงการเก็บภาษีขาออกของกรมศุลกากร ที่มีบทบัญญัติของกฎหมายรองรับอยู่แล้ว แต่ควรจะตั้งกรรมการขึ้นมาสอบสวนปลัดกระทรวงทั้ง 3 กระทรวง และบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สอบสวนกระทรวงพลังงานเป็นลำดับแรก เพราะเป็นตัวตั้งตัวตีในการเชิญประชุม และเสนอเรื่องนี้เข้าไปที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และถึงกับเสนอให้นายกรัฐมนตรีใช้มาตรา44 เพื่อช่วยให้เอกชนที่หลีกเลี่ยงภาษีให้ไม่ต้องรับโทษ และไม่ต้องเสียภาษีให้รัฐอีกด้วย
การที่มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ออกมาใช้อำนาจในการช่วยเหลือให้บริษัทเอกชนหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีให้กับรัฐย่อมเป็นอันตรายต่อบ้านเมืองอย่างยิ่ง เพราะเป็นการไม่รักษาประโยชน์ของทางราชการ ทำให้ราชการเสียหาย เป็นการใช้ดุลยพินิจในการวินิจฉัยในทางมิชอบ ใช่หรือไม่
ข้าราชการที่ดีจะต้องปฏิบัติหน้าที่เพื่อรักษาผลประโยชน์ของทางราชการเป็นสำคัญเป็นลำดับแรก มิใช่มุ่งแต่ดูแลฝ่ายเอกชนโดยลืมไปว่าตัวเองเป็นข้าราชการ ที่กินเงินเดือนหลวง ใช่หรือไม่







  สำนักข่าววิหคนิวส์