หัวหิน เมืองเล็กๆ ที่ไม่มีคนรู้จัก จวบจนกระทั่งกาลเวลาผ่านช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ มาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
“หัวหิน” ก่อนที่จะมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักเช่นทุกวันนี้ ในอดีตนั้น เคยเป็นสถานที่พักตากอากาศของพระบรมวงศานุวงศ์ ชาวต่างชาติ ขุนน้ำขุนนางมากมายในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ ๖ แห่งราชวงศ์จักรี การเดินทางในยุคนั้น ค่อนข้างลำบากและใช้เวลานานนับหลายชั่วโมงกว่าจะเดินทางไปถึง เส้นทางรถไฟจากสถานีกรุงเทพฯ – หัวหิน จึงเป็นเส้นทางที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในช่วงเวลานั้น
หัวหิน เมืองเล็กๆ ที่ไม่มีคนรู้จัก จวบจนกระทั่งกาลเวลาผ่านช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ มาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ ๙ แห่งราชวงศ์จักรี พระองค์และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ สิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้โดยเสด็จมาเยี่ยมเยือนพสกนิกรมายังอำเภอหัวหิน ทั้ง ๒ พระองค์เสด็จมาประทับ ณ วังไกลกังวล ไปพร้อมๆ กับการเสด็จไปยังพื้นที่ท้องถิ่นทุรกันดารของเมืองหัวหิน ซึ่งแต่ละพื้นที่ในช่วงเวลานั้น มีแต่ความยากลำบาก บางพื้นที่ต้องลุยน้ำ ลุยเขา ยิ่งเส้นทางลำบากมากเท่าไหร่ ทั้ง ๒ พระองค์ ยิ่งมีพระราชปณิธาณ มุ่งมั่นที่จะเสด็จให้ถึงจนได้ เพราะทุกพื้นที่ พระองค์ทรงรู้ดีว่ามีพสกนิกรไทยอาศัยอยู่ และความเจริญยังเข้าไม่ถึง ความยากลำบากในการใช้ชีวิตจึงอยู่อย่างลุ่มๆ ดอนๆ
ครั้งหนึ่งทรงเสด็จถึงพื้นที่เขาเต่า ในเขตตำบลหนองแก อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่นี่เป็นหมู่บ้านที่มีประชากรอยู่กันอย่างหนาแน่น ทรงเสด็จพระราชดำเนินมาถึงหมู่บ้านเขาเต่าด้วยความทุลักทุเล เนื่องจากพื้นที่แห้งแล้ง และทุรกันดารเป็นอย่างมาก ทรงพบว่าชาวบ้านขาดน้ำกินน้ำใช้เป็นอย่างมาก อาหารการกิน พืชผักก็ไม่ค่อยมี เนื่องจากเป็นพื้นที่แห้งแล้ง เพาะปลูกอะไร ก็ไม่ใคร่ได้ผลผลิตที่ดีงามนัก ทรงทอดพระเนตรพื้นที่โดยรอบและริเริ่มโครงการอ่างเก็บน้ำเขาเต่าในพระราชดำริขึ้นในปีพุทธศักราช ๒๕๐๕ อ่างเก็บน้ำเขาเต่า จึงเป็นโครงการในพระราชดำริของพระองค์ ทำให้ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นนับจากโครงการก่อสร้างเสร็จ นับเป็นโครงการตามพระราชดำริแห่งแรกของกรมชลประทาน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำพิธีเจิมเสาเข็มพืดท่อ
ระบายน้ำ เมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2506
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำพิธีเจิมเสาเข็มพืดท่อระบายน้ำ เมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2506
ทั้ง ๒ พระองค์ยังทรงทอดพระเนตรเห็นความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมง และเกษตรกรรมว่า หากในช่วงหน้ามรสุม ชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมง จะไม่สามารถออกเรือเพื่อหาปลา และสร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้เลย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงมีแนวคิดที่ต้องการส่งเสริมให้ชาวบ้านในละแวกนี้ ได้เรียนรู้การทอผ้าเพื่อเป็นอาชีพเสริม ทรงส่งเสริมให้ชาวบ้านทอผ้าด้วยกี่กระตุก โดยมีสมเด็จพระนางเจ้าฯ สิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถ จัดหาครูมาช่วยสอนชาวบ้าน และถ่ายทอดวิชาความรู้เกี่ยวกับ การทอผ้า ย้อมสีผ้า การขึ้นลาย การตัดเย็บ โดยให้หญิงสาวชาวบ้านได้มีอาชีพเสริมเพื่อเลี้ยงครอบครัวได้ พร้อมกับจัดหาวัสดุ อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการทอผ้าทุกอย่างให้กับกลุ่มชาวบ้าน
กลุ่ม ทอผ้า บ้านเขาเต่า
นอกจากนี้สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ยังส่งเสริมให้ชาวบ้านได้รู้จักกับป่านศรนารายณ์ และการสร้างผลิตภัณฑ์จากป่านศรนารายณ์ด้วยเช่นกัน จนทำให้กลายเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงประจำจังหวัด นับจากปีพุทธศักราช ๒๕๐๘ เป็นต้นมา ลูกหลานในหมู่บ้านเขาเต่าจึงได้ประกอบอาชีพทอผ้าเรื่อยมา โครงการนี้จึงนับเป็นโครงการในพระราชกรณียกิจที่ส่งเสริมงานหัตถกรรมให้กับชาวบ้านเป็นแห่งแรก ที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงริเริ่มขึ้น
ปัจจุบันกลุ่มทอผ้าเขาเต่า ได้รับการเรียกชื่ออย่างเป็นทางการว่า กลุ่มสตรีทอผ้าบ้านเขาเต่าในโครงการพระราชดำริ มีผลงานการทอผ้าประเภทผ้าฝ้ายเป็นสินค้าหลัก ลวดลายเอกลักษณ์ที่บ่งบอกว่า งานทอผ้านั้นมาจากหมู๋บ้านเขาเต่า ก็คือ ลายเต่า ซึ่งเป็นเอกลักษณ์งานทอของที่นี่ นอกจากนี้ก็ยังมีลวดลายอื่นๆ อาทิ เช่น ลายบานชื่น ลายดาหลา และลายแก้วสุวรรณสาร ซึ่งจัดเป็นกลุ่มงานทอยกดอกที่เพิ่มมูลค่าได้มากที่สุด
ไม่เพียงแต่ผ้าทอยกดอกเท่านั้น แต่ทางกลุ่มสตรีผ้าทอบ้านเขาเต่า ยังมีผลิตภัณฑ์ผ้าทออื่นๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวันได้ เช่น ผ้าขาวม้า ผ้าทอสีพื้น ซึ่งจำหน่ายเป็นเมตร มีทั้งแบบลวดลายและแบบสีพื้น เป็นต้น กลุ่มผลิตภัณฑ์งานผ้าทอของที่นี่ เน้นคุณภาพงานผ้าฝ้ายที่คัดสรรมาเป็นอย่างดีทั้งคุณภาพและวัตถุดิบ เป็นเนื้อผ้าที่มากด้วยคุณภาพ จนได้รับการคัดสรรเป็นสินค้าประจำจังหวัดที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติรู้จักดี
ผลิตภัณฑ์ผ้าทอจากบ้านเขาเต่า ยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการพัฒนาการทอมาโดยตลอด มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ในการทอ ทำให้ผลิตภัณฑ์ผ้าทอของที่นี่สวมใส่สบาย หน้าร้อนก็ใส่ได้ และในช่วงฤดูหนาว ก็ใส่สบาย เนื้อสัมผัสนุ่ม อีกทั้งใยผ้ายังช่วยเพิ่มความอบอุ่นให้กับร่างกายได้อีกด้วย
กลุ่มทอผ้าบ้านเขาเต่า ปัจจุบันยังเปิดเป็นศูนย์ข้อมูลในการให้ความรู้ด้านการทอผ้าเนื่องในพระราชดำริ แก่ผู้สนใจ นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป อีกด้วย หากท่านใดสนใจ อยากเรียนรู้งานผ้าฝ้ายทอมือคุณภาพเยี่ยม ที่มาจากน้ำพระทัยอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้าอยู่หัว และพระราชินี สามารถแวะไปเที่ยวชม หรือ สอบถามกับศูนย์ได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 08-9260-0867 หรืออยากเข้าไปนั่งฟังความรู้ดีๆ เกี่ยวกับผ้าฝ้ายทอมือบ้านเขาเต่า ทางศูนย์จะเปิดอบรมให้แก่ผู้สนใจ และเยาวชนโรงเรียนบ้านเขาเต่าเป็นประจำในทุกวันอังคาร
กลุ่มสตรีทอผ้าบ้านเขาเต่า จึงเป็นกลุ่มชาวบ้านอีกกลุ่มที่โชคดีที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้จากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ สิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถ อาชีพทอผ้าของพวกเขา คือ อาชีพพระราชทาน ที่สร้างความยั่งยืนทั้งความเป็นอยู่ และความสุขทางใจ ที่หาที่ใดเปรียบไม่ได้อีก อีกทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความเจริญให้กับเมืองหัวหินในเวลาต่อมา
“ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นพิภพนั้นมีอยู่อย่างจำกัด ในขณะที่ประชากรของโลกได้เพิ่มจำนวนอย่างมากมายและรวดเร็ว ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติเกิดการขาดแคลน และทำให้การดำเนินชีวิตในโลกใบนี้ยากลำบากขึ้นทุกวัน ภาวะเช่นนี้มิใช่จะเป็นภาวะที่เกิดขึ้นชั่วคราว หากแต่จะต้องเป็นไปโดยตลอด และอาจทวีความรุนแรงขึ้นต่อไป… ต่างฝ่ายตั้งใจที่จะค้ำจุนกัน ช่วยเหลือคนละไม้ละมือ ก็พอที่จะอยู่ร่วมกันได้อย่างสะดวกสบาย”
พระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เกี่ยวกับการอนุรักษ์เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2518
ที่มา:www.prachuaptown.com/travel/huahin/Kao-Tao.php
http://www.matichon.co.th
คมชัดลึก
กลุ่มทอผ้าบ้านเขาเต่า Thaitambon.com
Facebook: ศูนย์หัตถกรรมทอผ้าบ้านเขาเต่า
จิตตรา พงศธรพิพัฒน์
สำนักข่าววิหคนิวส์