“นิด้าโพล” เผย ผลสำรวจ ปชช.ร้อยละ 57 ไม่เห็นด้วยเก็บเงินประกันสังคมเพิ่ม ส่งผลกระทบผู้ที่มีรายได้น้อย ไม่ค่อยได้ใช้สิทธิประโยชน์ การบริการเหมือนเดิม ไม่ดีเท่าที่ควร
เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 60 ศูนย์สำรวจความคิดเห็น นิด้าโพล เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่อง “ข้อเสนอการเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมแบบใหม่ ?” ระหว่างวันที่ 3-4 พ.ย. 2560 จากประชาชนที่ใช้ประกันสังคมทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 1,251 หน่วยตัวอย่าง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 60.83 ระบุว่า ใช้ประกันสังคม ตามมาตรา 33 (เป็นผู้ประกันตนภาคบังคับเป็นพนักงาน หรือลูกจ้างที่ทำงานอยู่ในสถานประกอบการ) รองลงมา ร้อยละ 21.42 ระบุว่า มาตรา 40 (เป็นผู้ประกันตนภาคสมัครใจประกอบอาชีพอิสระ หรือแรงงานนอกระบบ) และร้อยละ 17.75 ระบุว่า มาตรา 39 (ผู้ประกันตนภาคสมัครใจเคยเป็นพนักงาน หรือลูกจ้างแต่ลาออก)
เมื่อถามว่า เคยได้ยินหรือรับรู้เกี่ยวกับการเพิ่มอัตราการเรียกเก็บเงินค่าประกันสังคมแบบใหม่ ของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) หรือไม่ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 50.84 ระบุว่า เคยได้ยิน และร้อยละ 49.16 ระบุว่า ไม่เคยได้ยิน
นอกจากนี้ การเรียกเก็บเงินสมทบสำหรับผู้ประกันตน (ค่าประกันสังคม) เพิ่มขึ้นใหม่ ตามฐานเงินเดือนประชาชน ร้อยละ 57.00 มองว่าไม่เห็นด้วย เพราะจ่ายเท่าเดิมก็ดีอยู่แล้ว ไม่อยากจ่ายเพิ่ม เป็นค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไป ส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีรายได้น้อย ไม่ค่อยได้ใช้สิทธิประโยชน์จากประกันสังคม และถึงแม้ว่าจะจ่ายเงินสมทบเพิ่มขึ้น แต่การให้บริการก็ยังไม่ดีเท่าที่ควร ขณะที่ รองลงมาร้อยละ 23.50 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะจะได้รับสิทธิประโยชน์ในด้านต่างๆ เพิ่มขึ้น เหมาะสม และสอดคล้องกับฐานเงินเดือนที่ปรับขึ้น สุดท้าย เมื่อถามว่าอีกว่าอยากให้สำนักงานประกันสังคมเพิ่มสวัสดิการในเรื่องใดบ้าง หลังจากการเรียกเก็บเงินค่าประกันสังคมเพิ่มขึ้น พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 19.65 ระบุว่า เงินค่ารักษาพยาบาล รองลงมา ร้อยละ 14.38 ระบุว่า เงินบำเหน็จชราภาพ ส่วนร้อยละ 12.77 ระบุว่า เงินทดแทนจากการว่างงาน ขณะที่ร้อยละ 10.66 ระบุว่า เงินทดแทนจากการเลิกจ้าง หรือลาออก และร้อยละ 8.85 ระบุว่า เงินสงเคราะห์บุตร
สำนักข่าววิหคนิวส์