อ้างเสร็จพระราชพิธีแล้วตามที่บิ๊กตู่เคยรับปากแล้ว อัดคสช.เอาเปรียบปูทางให้ประยุทธ์เป็นนายกฯคนนอก
หลังจากวานนี้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช.สั่งเรียกประชุมคสช.โดยมีสมาชิกคสช. ผบ.เหล่าทัพ มาร่วมประชุมโดยพร้อมเพรียง ก่อนที่ประชุมคสช.มีมติยังไม่ปลดล็อคพรรคการเมือง โดยอ้างเหตุผลว่าสถานการณ์บ้านเมืองยังไม่เรียบร้อย ยังไม่ควรมีความขัดแย้งทางการเมืองหรือเรื่องใดๆเกิดขึ้นในบ้านเมือง กฎหมายลูกยังไม่แล้วเสร็จ นายทะเบียนพรรคยังไม่มี พร้อมยืนยันการเลือกตั้งทุกอย่างจะเป็นไปตามโรดแมพที่คสช.และรัฐบาลประกาศไว้ ล่าสุดก็มีการออกแถลงการณ์ตอบโต้จากพรรคเพื่อไทย โดยขอให้คสช.ทำตามรัฐธรรมนูญและยกเลิกคำสั่งห้ามทำกิจกรรมทางการเมือง โดยเนื้อหามีใจความว่า
แถลงการณ์พรรคเพื่อไทย เรื่อง ขอให้ คสช. ทำตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ด้วยการยกเลิกประกาศ คสช. ฉบับที่ 57/2557 ความว่า ตามที่ได้มีเสียงเรียกร้องจากบรรดาพรรคการเมือง และนักวิชาการบางส่วนให้ คสช. ปลดล็อค หรือยกเลิกประกาศ คสช. ฉบับที่ 57/2557 ให้พรรคการเมืองได้ทำกิจกรรมทางการเมืองได้ภายหลังที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ได้ประกาศใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2560 เป็นต้นมา
ซึ่งเดิมหัวหน้า คสช.ได้ระบุว่าจะพิจารณาหลังเสร็จงานพระราชพิธีแล้ว แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม และวันที่ 7 พฤศจิกายนที่ผ่านมา คสช. ได้ให้เหตุผลใหม่ที่ยังไม่ยกเลิกข้อห้ามพรรคการเมืองว่า บ้านเมืองยังไม่สงบเรียบร้อย โดยมีบางฝ่ายยังโจมตีกันและบิดเบือนอยู่ กฎหมายลูกอีกสองฉบับยังไม่เรียบร้อย การสรรหา กกต. 7 คนยังไม่เสร็จสิ้น และอ้างว่า คสช. อาจใช้มาตรการพิเศษและมาตรการอื่นๆ ทางกฎหมายคลี่คลายปัญหาอุปสรรคที่จะมีขึ้นกับพรรคการเมืองในอนาคตได้
พรรคเพื่อไทยพิจารณาแล้ว เห็นว่า การที่พรรคการเมืองรวมถึงนักวิชาการได้ออกมาเรียกร้องให้ยกเลิกประกาศ คสช. ที่ห้ามพรรคการเมืองจัดการประชุมหรือทำกิจกรรมทางการเมืองนั้น มิได้เป็นการขออะไรจาก คสช. เพื่อประโยชน์ของพรรคการเมืองหรือนักการเมือง แต่เป็นการขอให้ คสช.ขจัดอุปสรรคเพื่อให้พรรคการเมืองได้ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องดำเนินการตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้เท่านั้น จึงเป็นการเรียกร้องให้ คสช. และหัวหน้า คสช.ได้ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมายพรรคการเมืองนั่นเอง
เนื่องจากรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 44 บัญญัติให้บุคคลมีเสรีภาพในการร่วมกันจัดตั้งพรรคการเมือง ตามวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามที่กฎหมายบัญญัติ บัดนี้เมื่อมีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองบังคับใช้ กำหนดให้มีการจัดตั้งพรรคการเมือง และบังคับให้พรรคการเมืองต้องปฏิบัติ ให้ดำเนินการหลายประการโดยมิได้มีข้อยกเว้นใดๆ ไว้
จึงเป็นหน้าที่ของ คสช. และหัวหน้า คสช.ที่จะต้องปฏิบัติให้ทุกอย่างดำเนินการไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ การที่ คสช.ยังคงคำสั่งห้ามพรรคการเมืองประชุมและดำเนินกิจกรรมทางการเมือง จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายเสียเอง
ข้อสำคัญคือ สิ่งที่กฎหมายกำหนดให้พรรคการเมืองต้องปฏิบัตินั้น ล้วนเป็นเรื่องที่มีความสำคัญที่จะส่งผลต่อการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั้งเรื่องการจัดทำข้อบังคับ การตรวจสอบสมาชิก การจัดตั้งสาขาพรรคและตัวแทนพรรคประจำจังหวัด หากทำไม่ครบถ้วนก็อาจไม่สามารถส่งผู้สมัครได้ เรื่องสำคัญคือในการจัดทำนโยบายพรรคนั้น กฎหมายกำหนดให้ต้องแสดงที่มาของงบประมาณที่จะใช้ และต้องรับฟังเสียงของประชาชนและสมาชิกพรรคด้วย พรรคการเมืองคงจะต้องลงไปยังพื้นที่เพื่อรับฟังความเห็นมาประกอบการจัดทำนโยบาย การดำเนินการดังกล่าวต้องใช้ระยะเวลา
การที่ คสช.ยังคงคำสั่งห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมืองจึงอาจเป็นช่องทางหรือข้ออ้างให้มีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอีกดังเช่นได้มีข้ออ้างมาแล้วหลายครั้งหลายหน ทำให้สังคมมองได้ว่า คสช.เล่นการเมืองและเอาเปรียบทางการเมือง เพื่อเปิดช่องให้หัวหน้า คสช.ปูทางไปสู่การเป็นนายกฯ คนนอกตามที่รัฐธรรมนูญเปิดทางไว้ หรือเปิดทางให้พรรคการเมืองที่ คสช.หนุนหลังมีความพร้อมในการเลือกตั้งให้มากที่สุด เมื่อได้พิจารณาเหตุผลข้ออ้างของ คสช.ที่ได้แถลงเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายนตามที่ระบุไว้ข้างต้นนั้น
ถือเป็นข้ออ้างที่ไร้เหตุผลและไม่เกี่ยวข้องหรือมีน้ำหนักให้ คสช. ต้องคงคำสั่งห้ามพรรคการเมืองในการทำหน้าที่ตามกฎหมาย เพราะการรักษาความสงบเรียบร้อยมีกฎหมายให้อำนาจ คสช. และรัฐบาลในการดำเนินการอยู่แล้ว ที่ผ่านมา คสช.ก็ใช้อำนาจนี้อย่างเต็มที่มาโดยตลอด จึงไม่ควรนำเรื่องที่พรรคการเมืองต้องปฏิบัติตามกฎหมาย กับข้ออ้างเรื่องความสงบเรียบร้อยมาปะปนกัน ส่วนกฎหมายลูกอีกสองฉบับที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. ก็เป็นคนละเรื่องกับกฎหมายพรรคการเมืองที่บังคับให้พรรคการเมืองต้องปฏิบัติ
สำหรับข้ออ้างเรื่องการสรรหา กกต. ชุดใหม่ด้วยแล้วก็ไม่เกี่ยวอะไรกับการที่พรรคการเมืองจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย เพราะปัจจุบัน กกต. ชุดเดิมก็ทำหน้าที่อยู่ ทั้งยังได้ยกร่างระเบียบต่างๆ ไว้จนจะครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว จากการแถลงของ คสช.ว่าอาจใช้มาตรการเสริม ใช้อำนาจที่มีตามกฎหมายแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ ได้ในอนาคต แสดงให้เห็นว่า คสช.เองก็เล็งเห็นได้ว่า อาจมีปัญหาเกิดขึ้นได้จากการไม่ยินยอมอนุญาตให้พรรคการเมืองดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด จึงเห็นว่าข้ออ้างของ คสช.ทั้งหลายนั้น เป็นการหลีกเลี่ยงที่จะคืนอำนาจให้กับประชาชน และต้องการยื้อการเลือกตั้งออกไป เพื่อชิงความได้เปรียบทางการเมือง พรรคเพื่อไทยเห็นว่าในขณะนี้บ้านเมืองมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง จึงไม่ควรที่ คสช. จะยกข้ออ้างต่างๆ เพื่อหวังอยู่ในอำนาจให้ยาวนานต่อไป การเร่งรัดรีบคืนอำนาจให้ประชาชนโดยเร็ว จึงเป็นวิถีทางที่ดีที่สุด
ที่มา:ทีนิวส์
สำนักข่าววิหคนิวส์