นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้กล่าวในงานสัมมนา “เปลี่ยน…ให้ทันโลก New World New Opportunity New Business” หัวข้อ Road Map EEC คลื่นลูกใหม่ลงทุนไทยว่า ผลการศึกษาของไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส (PwC) ได้บอกเราถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจโลกในปี 2050 หรืออีก 35 ปีข้างหน้าว่า จีนจะมีสัดส่วนในเศรษฐกิจโลกอยู่ที่ 20% เป็นอันดับหนึ่ง ขณะที่สหรัฐจะลดสัดส่วนลงจาก 16% เหลือ 12% ยุโรปจาก 15% เหลือ 9% อินเดียเพิ่มจาก 7% เป็น 15% หากเป็นแบบนี้สะท้อนว่า การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกจะอยู่ทางฝั่งเอเชียค่อนข้างมาก
เมื่อมองถึงผู้นำทางเศรษฐกิจโลกก็จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่ม G7 และกลุ่ม E7 (จีน-อินเดีย-อินโดนีเซีย-รัสเซีย-บราซิล-เม็กซิโก-ตุรกี) นั่นหมายความว่าจะเกิดเศรษฐกิจใหม่ขึ้น 7 ประเทศ ซึ่งไม่มีประเทศไทย
และหากดูจากการขยายตัวของเศรษฐกิจจะพบว่า เวียดนาม-ฟิลิปปินส์-ไนจีเรีย จะเป็นประเทศที่มีอันดับ GDP ขยับขึ้นเร็วและสูงที่สุด โดยเวียดนามจะโตเฉลี่ยต่อปี 5.1% ทำให้ GDP ขยับขึ้นจากอันดับ 32 เป็น 20, ฟิลิปปินส์โต 4.3% GDP ขยับขึ้นจาก 28 เป็น 19, ไนจีเรียโต 4.2% GDP ขยับจาก 22 เป็น 14 ขณะที่ประเทศไทย ถ้าไม่ทำอะไรเลย ยังทำตัวเหมือนเดิม จากที่เคยอยู่อันดับ 20 ก็จะตกลงมาอยู่ที่อันดับ 25 “เราเติบโตเพียง 3% ดังนั้นอยู่ที่ว่า ไทยจะเปลี่ยนหรือเปล่า การที่ไทยโตเท่านี้เกิดจากการลงทุนที่น้อยลง”
EEC ระเบียงของกรุงเทพฯ
ประเทศไทยเสียเวลามาประมาณ 10 ปี โดยจะเห็นว่าไม่มีการลงทุนเรื่องเทคโนโลยี “ทำให้ไทยต้องถอยหลัง” ดังนั้นไทยจะต้องลงทุนปรับโครงสร้างพื้นฐานด้านเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยี “เราไม่ทำไม่ได้ ทำแล้วไม่สำเร็จก็ไม่ได้” เพราะ “ถ้าเราทำไม่ทันคนอื่น เขาก็จะทำและแซงไทยในที่สุด”
ที่ผ่านมาไม่มีประเทศใดในโลกที่จะพ้น “กับดักรายได้ปานกลาง” ได้ หากไม่มีการลงทุนด้านเทคโนโลยี และไม่เคยมีประเทศไหนเลยที่จะก้าวไปได้เร็ว หากประเทศนั้นมีการแยกภาครัฐ เอกชน ประชาชน ออกจากกัน ประเทศไทยก็เช่นกัน จะแยกทั้ง 3 ส่วนออกจากกันไม่ได้ ทุกอย่างมันต้องรวมเป็นพลัง ในส่วนของรัฐบาลเองจะเป็นคนทำนโยบายการลงทุน รัฐบาล?ต้องทำให้เอกชนเชื่อมั่น เพื่อให้เอกชนลงทุนได้และลงทุนอย่างเต็มที่ ดังนั้น เขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) คือ หนึ่งในทางออกและกลไกที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของประเทศไทย
EEC ได้หยิบเอานโยบาย Thailand 4.0 สมาร์ทเทคโนโลยี-สมาร์ทประชาชน มาดำเนินการให้เป็นรูปธรรมด้วยการพัฒนาเชิงพื้นที่ รัฐบาลจึงเลือกใช้ภาคตะวันออกของประเทศ ซึ่งความจริงแล้ว จังหวัดฉะเชิงเทรา-ชลบุรี-ระยอง ก็คือ “ระเบียงของกรุงเทพฯ” นั่นเอง EEC จึงเป็นการสานต่อโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด เมื่อ 40 กว่าปีก่อน ซึ่งทำไว้ได้ครึ่งเดียวให้เสร็จ เกิดเป็นโครงการ EEC ขึ้นมา หรืออาจเรียกได้ว่า EEC ก็คืออีสเทิร์นซีบอร์ด ภาคสมบูรณ์นั่นเอง
เป็น Pattern เดียวกันกับที่ญี่ปุ่นให้โตเกียวเป็นศูนย์กลาง แล้วให้จังหวัดรอบ ๆ ดึงเข้ามาพัฒนาเชื่อมกัน เช่นเดียวกับเกาหลีใต้ที่ใช้อินชอลเชื่อมกับโซล นิวยอร์กมีนิวเจอร์ซีย์ Model นี้ก็เช่นกัน ต้องหาทางให้กรุงเทพฯโตอย่างมีระบบด้วยเชื่อมการพัฒนาออกไปยังจังหวัดรอบ ๆ เพื่อให้เมืองต่างจังหวัดโตไปด้วย ดังนั้น จุดประสงค์ของ EEC จึงต้องการยกให้ 3 จังหวัดเป็นฐานการสะสมการลงทุน ฐานสร้างเทคโนโลยีสำหรับเจเนอเรชั่นหน้า
ทั้งหมดที่กล่าวมาจึงตอบคำถามได้ว่า หากวันนี้ประเทศไทยไม่เปลี่ยนจะเกิดอะไรขึ้น อันดับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยจะตกจาก 20 เป็น 25 และด้วยอัตราการขยายตัว?เพียงเท่านี้ ไทยอยู่ไม่ได้แน่ ถ้าไม่มีการลงทุน ซึ่ง EEC จะเป็น Solution หนึ่งในการลงทุน
กลุ่ม D5 จุดเริ่มต้น EEC
การศึกษา EEC ได้ถูกดำเนินการมากว่า 1 ปี โดยประชารัฐกลุ่ม D5 ซึ่งมี นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ เป็นหนึ่งในคณะกรรมการ โดยกำหนด Roadmap ไว้ 4 กลุ่ม คือ โครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรมเป้าหมาย ท่องเที่ยว การสร้างเมืองใหม่ ทั้งหมดจะเกิด 15 โครงการใหญ่ขึ้นมา โดยระยะแรก 5 ปีจะเห็น 5 โครงการเกิดขึ้นก่อน ได้แก่ สนามบินอู่ตะเภา เมืองการบินภาคตะวันออก ศูนย์การบินนานาชาติเอเชีย รองรับนักท่องเที่ยวสูงสุด 60 ล้านคน, ท่าเรือน้ำลึกมาบตาพุด เฟส 3 แหลมฉบัง เฟส 3 สัตหีบ, รถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา, อุตสาหกรรมเป้าหมาย-ยานยนต์ไฟฟ้า (EV/AV), เมืองใหม่ฉะเชิงเทรา-พัทยา-ระยอง ซึ่งยังรวมไปถึงการตั้งเขตส่งเสริมดิจิทัลพาร์ค (EECd) กับเขตส่งเสริมเมืองนวัตกรรม (EECi) ด้วย
และเมื่อทั้ง 7 โครงการเสร็จสมบูรณ์ตามแผน (รวม EECd-EECi) ก็จะต้องมีการจ้างงาน มีผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) วิ่งอยู่ในระบบอีคอมเมิร์ซ รวมทั้งธุรกิจเกษตร/อาหาร ต้องมีนักท่องเที่ยวอย่างน้อยหนึ่งเท่าตัว ?ซึ่งขณะนี้มีประมาณ 10 ล้านคน ดังนั้นอีก 20 ล้านคน “คงไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำให้วิถีชีวิตของชุมชนดีขึ้น”
โดยมูลค่าของการลงทุนใน EEC เชื่อว่าจะเห็นอยู่ที่ตัวเลข 1.5 ล้านล้านบาท ภายใน 5 ปี โดยโครงการก่อสร้างทั้งหมดจะใช้งบประมาณการลงทุนจากภาครัฐ 10-20% เท่านั้น ที่เหลืออีก 80% จะมาจากการลงทุนของภาครัฐและเอกชนร่วมมือกัน
(PPP)
ที่มา :http://www.prachachat.net
#Wanwilai วันวิไล รักการดี สำนักข่าว Vihoknews