ข่าวประจำวัน » The Hero !! ส.ว.สมชาย-40 ส.ว.ผู้ล้มเศรษฐา ด้วยคาถาจริยธรรม

The Hero !! ส.ว.สมชาย-40 ส.ว.ผู้ล้มเศรษฐา ด้วยคาถาจริยธรรม

21 September 2024
1   0

21 ก.ย.2567 – นายสมชาย แสวงการ อดีตสมาชิกวุฒิสภา ที่เป็นแกนนำหลักของอดีตกลุ่ม 40 สว.สมัยที่ผ่านมา ซึ่งร่วมกันยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญในคดีเศรษฐา ทวีสิน จนทำให้นายเศรษฐา พ้นจากการเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมฯ กล่าวถึงการที่พรรคการเมืองทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราในขณะนี้ว่าเห็นได้ชัดว่า การยื่นแก้ไขรธน.ครั้งนี้ เป็นการทำเพื่อนักการเมืองและพรรคการเมือง ไม่ได้ทำเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติโดยรวม การเสนอแก้ไขรธน.รายมาตรา ทั้งเรื่องอำนาจศาลรธน.หรือแก้ไขเรื่องมาตราฐานจริยธรรมของผู้ถูกเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรี ไม่เห็นว่าประชาชนจะได้ประโยชน์ตรงไหน มันเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนของพวกคุณด้วยซ้ำไป ไม่เชื่อว่าประชาชนจะลงประชามติเห็นด้วยกับร่างที่เสนอฯ

นายสมชายกล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มาจากความเห็นชอบของประชาชนผ่านการทำประชามติ 16 ล้านเสียง แต่ก็ไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่แก้ไขไม่ได้ หลักสำคัญสามอย่างที่ยังคงยืนมั่นอยู่ในรัฐธรรมนูญคือ หนึ่ง หลักแก้ไขไม่ได้เลย ก็คือ เรื่องรัฐไทยเป็นหนึ่งเดียว สอง แก้ง่าย ที่ก็เคยแก้ไขมาแล้วในรัฐสภาสมัยที่ผ่านมาคือแก้ไขกติกาการเลือกตั้งเปลี่ยนจากระบบเลือกตั้งส.ส.แบบบัตรใบเดียวเป็นบัตรสองใบ สาม แก้ยาก ที่เป็นหลักความคุ้มครองหลักนิติรัฐ นิติธรรม และการปฏิรูปประเทศ การถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ รวมถึงองค์กรอิสระที่ใช้อำนาจหน้าที่ต่างๆ การออกแบบให้มี ศาลรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ใช่เพิ่งเกิดในรัฐธรรมนูญปี 2560 แต่เกิดมาตั้งแต่รธน.ปี 2540 โดยที่ผ่านมาทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดี กรณีที่เสนอแก้ไขรธน.เรื่องศาลรัฐธรรมนูญเวลานี้ พรรคเพื่อไทย ที่เป็นรัฐบาล และพรรคฝ่ายค้านคือพรรคประชาชน อาจจะมีการแสวงจุดร่วมเพราะทั้งสองฝ่าย ได้เคยถูกศาลรธน.วินิจฉัยโดยหลักนิติรัฐ-นิติธรรมแล้วทั้งคู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการป้องกันไม่ให้คนไม่ดี เข้ามามีอำนาจ รัฐธรรมนูญจึงบัญญัติเรื่อง รัฐมนตรี ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ฯต้องไม่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) และ (5) ปัญหามันจึงอยู่ที่ตัวบุคคล ไม่ใช่อยู่ที่รัฐธรรมนูญ และไม่ได้อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ แต่ปัญหามันอยู่ที่ดุลยพินิจ และการเลือกใช้คนรัฐธรรมนูญปี 2560 จึงออกแบบมาให้ นายกรัฐมนตรี พรรคการเมือง ต้องรับผิดชอบต่อประชาชน ด้วยการต้องคัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ ซื่อสัตย์สุจริต และไม่ประพฤติผิดมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเพื่อมาบริหารประเทศ

“รัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) และ(5) เขียนไว้ชัดเจนอยู่แล้วและยิ่งชัดมากขึ้นเมื่อมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมา ยิ่งเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ เป็นเรื่องที่วิญญูชนรู้ดีอยู่แล้วว่าความซื่อสัตย์สุจริตเป็นอย่างไร อย่างเช่นเรื่องถุงขนมสองล้านบาท เรื่องนี้ก็เพียงแค่คนไหนมีปัญหาก็อย่าตั้งให้มีตำแหน่ง ถ้าตั้งโดยซื่อสัตย์สุจริต ไม่มีเบื้องลึกแอบแฝงมา หรือเป็นเรื่องผลประโยชน์ตอบแทน ก็ตั้งได้ทั้งสิ้น รัฐธรรมนูญไม่ได้มีปัญหา ไม่ได้มีความผิด ไม่อย่างนั้นประเทศชาติไปไม่ได้ ถ้าไม่มีกรอบกติกา การจะเสนอแก้ไขรธน.โดยอ้างว่า รธน. มาตรา 160 (4) และ (5)  บัญญัติไม่ชัดเจนนั้น มันเป็นความไม่ชัดเจนของพวกคุณกันเอง เพราะมีทั้งคำตัดสินของศาลฎีกา และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องมาตรฐานจริยธรรมฯ ออกมาแล้ว”

นายสมชาย อดีตสว.กล่าวด้วยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่กำลังเริ่มดำเนินการต่อจากนี้ ไม่เชื่อว่าประชาชนจะลงประชามติเห็นด้วย อยากจะแก้ไข ก็ทำกันไปในรัฐสภา จะได้เป็นการพิสูจน์ว่า พรรคเพื่อไทย ที่กำลังจะเข้าไปลิดรอนอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ เช่นการแก้ไขให้การลงมติวินิจฉัยคดีในการให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องพ้นจากตำแหน่งต้องใช้เสียงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอย่างน้อย 2 ใน 3 เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว -พวกพ้อง หรือทำเพื่อผลประโยชน์ประชาชนและพรรคร่วมรัฐบาลเอง ไม่ว่าจะเป็นพรรครวมไทยสร้างชาติ ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา จะไปเห็นพ้องด้วยหรือไม่ การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตัวเอง ไม่เชื่อว่าประชาชนจะออกเสียงประชามติให้ผ่าน

        นายสมชาย -อดีตสว. ยังกล่าวถึงกรณี พรรคเพื่อไทย เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยให้ผลการลงมติให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพ้นจากตำแหน่งโดยใช้เสียง 2 ใน 3 ของตุลาการศาลรธน.ที่ปฏิบัติหน้าที่ โดยกล่าวว่า ถ้าแบบนี้ เหตุใดไม่แก้เรื่องการพิจารณาร่างกฎหมายของสภาฯ และวุฒิสภาไปด้วย โดยแก้ว่า ร่างพรบ.ที่จะผ่านความเห็นชอบจากสภาฯและวุฒิสภา ต้องได้เสียงเห็นชอบจากสมาชิกไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกที่ปฏิบัติหน้าที่ ทำไมให้ใช้เสียงแค่เกินกึ่งหนึ่งของสภาฯ ของสภาฯที่มีส.ส. 500 คน สว. 200 คน ซึ่งเมื่อก่อนเวลามีประชุม เช่น สว.มาไม่ถึงครึ่งหนึ่ง สว.ลงมติเสียงข้างมาก 80 เสียง ต่อ 70 เสียง กฎหมายก็แก้ไขได้แล้ว ไม่ถึงกึ่งหนึ่งด้วยซ้ำ จนกระทั่งมีคำวินิจฉัยศาลรธน. จนรัฐธรรมนูญเขียนในเวลาต่อมาว่าสมาชิกต้องมาเป็นองค์ประชุมเกินกึ่งหนึ่ง และเสียงเห็นชอบต้องมีเกินกึ่งหนึ่ง การวินิจฉัยคดีของศาลรธน. ไม่ได้วินิจฉัยแบบชุ่ยๆกว่าจะออกคำวินิจฉัยมา ต้องมีการไต่สวนคดี กว่าจะออกมาเป็นคำวินิจฉัย ศาลต้องรับผิดชอบต่อบ้านเมืองอยู่แล้ว ไม่ว่าเสียงข้างมากจะออกมาอย่างไร จะเป็น 5 ต่อ 4 หรือ 6 ต่อ 3 ก็ต้องใช้ดุลยพินิจกันเยอะ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคนต้องเขียนคำวินิจฉัยส่วนตนเวลาวินิจฉัยคดีต่างๆ แล้วส.ส.เคยเขียนอะไรหรือไม่เวลาส.ส.ลงมติเรื่องต่างๆ หากเข้าใจเรื่องนี้ มันก็เหมือนกันคือเป็นเรื่องหลักการเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่ง ถูกต้องเหมาะสมแล้วสำหรับการลงมติวินิจฉัยคดีของศาลรธน.ไม่จำเป็นต้องมาแก้ไขโดยให้เป็นมติ 2 ใน 3 แต่อย่างใด